“จาตุรนต์” ห่วง “อนุทิน” ยังไม่เก็ตแนวคิด “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” หวั่นยิ่งแก้ผิดๆยิ่งบานปลาย

อดีตรองนายกฯ ห่วง รมว.สธ.ยังไม่เข้าใจแนวคิด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” ชี้กำหนดยาเสพติดในครอบครองของผู้เสพไม่สอดรับกับความเป็นจริง ย้ำผู้ป่วยต้องเข้าบำบัดไม่ใช่จับขังคุก

 

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อคำสัมภาษณ์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ เสนอให้ประชาชนร่วมตัดสินใจในประเด็นครอบครอง “ยาบ้า” กี่เม็ดถึงเข้าข่าย “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ว่า

ที่รมว.สธ.บอกว่า “น่าประหลาดใจ ที่มีความห่วงกังวล คุกจะไม่พอขังผู้กระทำผิด แต่ไม่มีใครห่วงโรงพยาบาล จะมีสถานที่พอรองรับผู้เสพหรือไม่” แปลว่าท่านคิดว่าควรจะจับผู้เสพไปขังให้มากๆจะได้ไม่เป็นภาระกับระบบสาธารณสุขใช่หรือไม่

ถ้ารมว.สธ.คิดอย่างนี้ก็แสดงว่ายังไม่เข้าใจแนวความคิดเรื่อง “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและก็ทำให้เราเข้าใจได้ไม่ยากกว่าเหตุใดทุกวันนี้ระบบบำบัดผู้เสพยาเสพติดจึงมีอยู่น้อยมาก เหตุใดผู้เสพจำนวนมากจึงอยู่กันไปตามยถากรรมไม่ได้รับการดูแลใดๆ

ทำไมจึงกำหนดจำนวนหรือปริมาณยาเสพติดในครอบครองสำหรับผู้เสพและผู้ค้าไว้เช่นถ้าต่ำกว่ากี่เม็ดเป็นผู้เสพ มากกว่ากี่เม็ดเป็นผู้ค้าหรือมากแค่ไหนเป็นผู้ค้ารายใหญ่

การกำหนดจำนวนยาเสพติดในครอบครองของผู้เสพน้อยมากๆย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คนติดยาเสพติดจะซื้อยาเสพติดทุกวันได้อย่างไร สมมติว่าถ้าให้มีได้ไม่เกิน 1 เม็ด เขาก็คงต้องซื้อทุกวัน

อีกอย่างหนึ่ง การกำหนดจำนวนยาเสพติดในครอบครองน้อยมากๆ มักเกิดการยัดหลักฐานให้ผู้ต้องหาได้ง่าย ตำรวจอยากจะแกล้งใครก็เอายาเสพติดติดตัวไปเม็ดสองเม็ดทำหล่นในกระเป๋าหรือลิ้นชักเด็ก เด็กก็จะถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ค้าไปทันที นี่ก็เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ

สังคมที่เขาแก้ปัญหายาเสพติดได้ดีคือเขาไม่ปล่อยให้ค้ายาเสพติดกันอย่างแพร่หลายอย่างเมืองไทย ผู้เสพจึงมีไม่มาก และเขาถือว่าผู้เสพโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ติดยาคือเหยื่อผู้ถูกกระทำซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องของรัฐ เขาจึงไม่ถือว่าเป็นอาชญากรแต่ถือว่าเป็นผู้ป่วยต้องใช้วิธีบำบัดไม่ใช่จับมาขังคุก

การจับผู้เสพยาไปขังคุกไม่ใช่ทางแก้ปัญหาและจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักยิ่งขึ้นเพราะผู้ปกครองก็จะไม่ให้ความร่วมมือเพราะไม่อยากให้ลูกตนเองติดคุก เด็กที่ติดคุกในระบบคุกของไทย ออกมาแล้วก็มักทำอาชญากรรมร้ายแรงที่เรียนจากในคุก ดังนั้นจึงต้องมีนโยบายทั้งการกำหนดปริมาณ และการถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่นำมาใช้ให้เกิดขึ้นจริงเสียที