ปิดจ๊อบประกันโควิด! ยอดเคลมพุ่ง 1.6 แสนล้าน! ‘เจอจ่ายจบ’ มากสุด

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยยอดจ่ายเคลมสินไหมโควิด 2 ปี พุ่ง 1.6 แสนล้าน! ประกัน ‘เจอจ่ายจบ’ ยอดเคลมมากสุด ยังมียอดตกค้าง 7 หมื่นล้าน

 

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 กว่า 2 ปีที่มียอดผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2564-2565 มีผู้ป่วยถึงปีละ 2 ล้านคน ทำให้มียอดจ่ายเคลมสินไหมประกันโควิดสูงถึง 160,000 ล้านบาท โดยเฉพาะประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” มียอดเคลมมากสุด และยังมียอดตกค้างอีก 70,000 ล้านบาท

ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัยต้องหาเงินมาจ่ายชดเชย จากบริษัทประกัน 4 แห่งที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ได้แก่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด(มหาชน) บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ส่วนอีก 1 บริษัท อยู่ระหว่างขอยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ คือบริษัท สินมั่นคง ประกันภัย จำกัด (มหาชน)

“ตอนนี้กรมธรรม์ประกันโควิดไม่มีขายแล้วตั้งแต่กลางปี 2564 ที่ผ่านมา และหลังจากที่รัฐบาลลดระดับให้โควิด-19 เป็นโรคเฝ้าระวังเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม หากใครป่วยโควิดถ้ามีประกันสุขภาพก็สามารถรักษาได้ เพราะแพคเกจค่าเบี้ยที่แต่ละบริษัทขายนั้นจะครอบคลุมโรคโควิด-19 อยู่แล้ว

โดยความคุ้มครองขึ้นอยู่กับวงเงินค่าเบี้ยที่ซื้อ อายุ ระดับความเสี่ยง หรือหากไม่มีประกันก็สามารถรักษาด้วยบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค หรือประกันสังคมก็ได้ ทำให้การซื้อขายกรมธรรม์สุขภาพในช่วงนี้ยังไม่คักคักมาก ขณะที่บริษัทประกันไม่ได้ปรับค่าเบี้ยเพิ่มขึ้น” นายอานนท์ กล่าว

ด้าน นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา ทำให้มียอดจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดโดยเฉพาะกว่า 80,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าสินไหมของ 4 บริษัทที่ปิดไป)

ปัจจุบันหลังรัฐบาลปรับลดระดับโรคโควิดเป็นโรคเฝ้าระวัง ทาง คปภ.ไม่ต้องปรับแผนรองรับแต่อย่างใด เนื่องจากหากป่วยโควิดสามารถรักษาได้ด้วยระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิดอยู่แล้ว ขณะที่การเบิกจ่ายผ่านระบบประกันสุขภาพไม่ยุ่งยาก เพราะเบิกตรงกับโรงพยาบาลที่รักษาได้ และบริษัทประกันไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อนด้วย

“ตลาดประกันสุขภาพทั่วไปเติบโตขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละกว่า 10% ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนค่าเบี้ยแต่ละบริษัทจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอายุ อาชีพ ความเสี่ยง และยังไม่มีแผนจะปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันเพิ่ม แม้ความต้องการในตลาดจะสูงขึ้น” นายอาภากร กล่าว