ผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 โต 88% ของจีดีพี-จ่อคลอดนโยบายแก้หนี้ยั่งยืน

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เผยหนี้ครัวเรือน Q2/65 โต 88% ของจีดีพี-จ่อคลอดนโยบายแก้หนี้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด เห็นได้จากปี 2553 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ของจีดีพี ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 80% ของจีดีพีในปี 2562 และล่าสุด ไตรมาส 2/2565 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88% ของจีดีพี ในช่วงโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการทางการเงินหลากหลายเพื่อช่วยกลุ่มลูกหนี้ให้ตรงจุด รวดเร็ว และเหมาะสมกับทุกสถานการณ์

โดยระยะถัดไป ธปท. จะออกแนวทางนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน ภายในปี 2565 เพื่อสื่อสารทิศทางการดำเนินงานของ ธปท.ที่จะผลักดันในอนาคต และแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาไปอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ออกหลักเกณฑ์เรื่องการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลลูกหนี้ที่ควรรู้ เพื่อปรับพฤติกรรมให้เกิดวินับทางการเงินและลดการก่อหนี้เกินตัว เป็นต้น นอกจากนี้ จะพัฒนาแผนงานต่อไปเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านพ้นไปได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปสู่ลูกหนี้ โดยเดือนกรกฎาคม 2563 สถาบันการเงินได้ช่วยเหลือลูกหนี้สะสมสูงสุดอยู่ที่ 12.5 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นราว 40% ของสินเชื่อรวม ทั้งระบบ ทยอยลดลงมาตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด ณ เดือนมิถุนายน 2565 ค่าคงเหลือลูกหนี้อยู่ที่ 3.9 ล้านบัญชี ยอดหนี้เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 14% ของสินเชื่อรวม

เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด หรือสมู้ดเทคออฟ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1.ต้องทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ โดยในช่วงตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ลูกหนี้ และในส่วนของเจ้าหนี้ต้องปล่อยหนี้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความสามารถการชำระหนี้ และให้ข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้กู้ เช่น การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending)

ช่วงขณะเป็นหนี้ต้องสร้างกลไกช่วยลูกหนี้ ให้ชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เพื่อให้หนี้ไม่พอกพูน เช่น กลไล Risk-based Pricing คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อโดยเพิ่มการประเมินความเสี่ยงเข้ากับต้นทุน สำหรับการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โดยความเสี่ยงที่เพิ่มเข้าไปขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ จะช่วยให้ลูกหนี้รับดอกเบี้ยลดลง และเหมาะสมกับความเสี่ยงของตน รวมทั้งมีแนวทางรีไฟแนนซ์หนี้สะดวกขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม และในช่วงที่มีปัญหาชำระหนี้ ควรมีกลไกสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อช่วยลูกหนี้หลุดจากวงจรหนี้ได้ เช่น การไกล่เกลี่ยหนี้นอกศาล หรือการแก้หนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย

2.ต้องทำให้ถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำ และที่สำคัญรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ หลักๆ คือ 1.ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาลูกหนี้ 2.ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ในอนาคต 3.ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ และ 4.เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือกัน และตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้ ซึ่งการดำเนินการภายใต้หลักการเหล่านี้ต้องใช้เวลา เพราะหนี้ครัวเรือนไมยเป็นปัญหาสะสมมานานและเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากฝั่งเจ้าหนี้และลูกหนี้ จึงไม่สามารถแก้ได้ด้วยมาตรการเดียว แต่ต้องอาศัยมาตรการที่หลากหลายและต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง

3.บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ที่ต้องให้สินเชื่อใหม่โดยคำนึงถึงศักยภาพลูกหนี้ในการชำระหนี้มากขึ้น พร้อมกับให้ข้อมูลที่ได้กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว ภาครัฐมีบทบาทในการสร้างรายได้ และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านข้อมูลที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ภาคเอกชนก็ต้องยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้าง และลูกหนี้ก็ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงิน ก่อหนี้โดยการคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และมีวินัยในการชำระหนี้

ทั้งนี้ ธปท.ได้ดำเนินการแก้หนี้โดยยึดตามแนวทางข้างต้น และงานมหกรรมรวมใจแก้หนี้ในครั้งนี้ ก็เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ ธปท.ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท.ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนต่างๆ เห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไขเริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาชำระหนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ พิเศษกว่าครั้งก่อนเนื่องจากมีเจ้าหนี้เข้าร่วมกว่า 60 ราย และครอบคลุมประเภทหนี้มากขึ้น เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ เป็นต้น ที่สำคัญเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เจรจาแก้หนี้กับเจ้าหนี้บนข้อตกลงที่ผ่อนปรนให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ จะต้องกับความต้องการมากขึ้น