“กมธ.ปปช.” จ่อเชิญ “หม่อมอุ๋ย” ให้ข้อมูลเพิ่มในฐานะผู้จัดการมรดก “ปัฐวาท”

“กมธ.ป.ป.ช.” เตรียม เชิญ “หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะผู้จัดการมรดก “ปัฐวาท” จี้กก.ป.ป.ช. 3 เสียงรื้อคดี หลังพบหลักฐานใหม่

 

วันที่ 5 ก.ย.2565 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) แถลงกรณีนาฬิกาเพื่อนว่า ตนได้อภิปรายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไว้เมื่อตอนการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และเป็นการอภิปรายที่ถูกประท้วงมากที่สุดถึง 24 ครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการไปแตะต้องพล.อ.ประวิตรนั้นไม่ง่าย เพราะพล.อ.ประวิตรนั้นเป็นรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจและมีบารมีมากที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ มีบารมีมากกว่าตำแหน่งที่ดำรงอยู่ จนทุกหน่วยงานในประเทศ ไม่ว่ากระทรวง หรือองค์กรอิสระ ไม่กล้าขัดใจพล.อ.ประวิตรได้

ธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ซึ่งก่อนหน้านั้นในการแสดงบัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตร ทั้งปี 51 ปี 54 ปี 55 และปี 57 ไม่เคยแสดงบัญชีทรัพย์สินว่ามีนาฬิกาหรูเป็นของตนเอง ดังนั้นสื่อมวลชนจึงสืบหา และพบว่าพล.อ.ประวิตร มีนาฬิกาหรูอีก 20 กว่าเรือนที่ใส่ไปในงานต่างๆ โดยเฉพาะช่วงปี 60 มีมากเป็นพิเศษ จึงมีการตั้งคำถามว่านาฬิกาหรูมาจากไหน ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งกรรมการสอบ ต่อมามีการแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นนาฬิกาของเพื่อน ชื่อนายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ โดยยืมมาใส่

แต่สิ่งที่สำคัญคือไม่เคยเห็นภาพนายปัฐวาทใส่นาฬิกาหรูสักเรือนเดียวใน 20 เรือนที่ปรากฎเป็นข่าว ซึ่งผลสอบของป.ป.ช. เชื่อว่าเป็นนาฬิกายืมเพื่อนมา จึงมีมติ 5 ต่อ 3 ให้ยุติเรื่องนี้ ทำให้เป็นสิ่งที่คาใจประชาชน เพราะปี 57 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และวุฒิสภา เพื่อตั้งองค์กรอิสระที่มีสายมาจากคสช. เชื่อมโยงอำนาจรัฐประหารมีการแทรกแซงโดยใช้มาตรา 44 แต่งตั้งกรรมการป.ป.ช. และประธานป.ป.ช. ก็เป็นอดีตเลขาฯ ของพล.อ.ประวิตร ถามว่ามีการสอบเรื่องดังกล่าวให้สิ้นกระแสความก่อนยุติเรื่องหรือไม่ และส่งเรื่องให้กรมศุลกากรก็ไม่มีการสอบรายละเอียด ตนถามว่าทำไมจึงต้องยุติเรื่องนี้ และการตรวจสอบบัญชีทรัพย์มรดกก็ไม่มีการดำเนินการตรวจสอบตามพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา ให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องไปบริษัทแม่ว่านาฬิกาเหล่านั้นเป็นของใคร แต่ป.ป.ช.กลับส่งเรื่องไปอย่างผิดธรรมเนียม จึงทำให้ไม่ได้มีเรื่องส่งกลับมา

ธีรัจชัย กล่าวอีกว่า ต่อมากมธ.ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วพบว่า ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะทายาท เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อกมธ.ได้เอกสารมาไม่ปรากฎว่ามีนาฬิกาหรูอยู่สักเรือนเดียว แสดงว่าสิ่งที่ตนตั้งข้อสันนิษฐานตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเป็นจริง และป.ป.ช.ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ โดยรีบสรุปเรื่องจนมีมติ 5 ต่อ 3 ยุติเรื่องดังกล่าว ดังนั้นตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 54 บัญญัติว่าให้กรรมการป.ป.ช.รับหรือยกเรื่อง กรณีที่ป.ป.ช.วินิจฉัยเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่มีพยายานหลักฐานใหม่ ที่มีสาระสำคัญของคดีทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งตนเชื่อว่ากรรมการป.ป.ช.ทั้ง 3 เสียงอยากให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้สิ้นกระแสความ จึงขอให้ 1 ใน 3 เสียงเสนอเพื่อนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เพราะมีหลักฐานใหม่และ 3 คนนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้งขอให้กรรมการป.ป.ช.อีก 5 คนช่วยตรวจสอบด้วย และขอความร่วมมือให้สำนักงานอัยการสูงสุดทำเรื่องไปบริษัทแม่ว่า นาฬิกาหรูดังกล่าวเป็นของใครกันแน่ รวมทั้งขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบซีเรียลนัมเบอร์ที่มีการเปิดเผย เพื่อดำเนินการคู่ขนานกันไป และในวันที่ 7 ก.ย. กมธ.ป.ป.ช.จะเชิญหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรมาให้ข้อมูลในฐานะผู้จัดการมรดก