พระอัจฉริยภาพ “ร.9” ทรงสรรค์สร้าง งานประดิษฐ์-พระราชนิพนธ์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญาและได้ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาราษฎร์

โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ พระองค์จึงทรงประดิษฐ์คิดค้นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาและการแก้ปัญหาด้านการเกษตรเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการเกษตร เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

จนทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ฉบับแรก คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็น “วันนักประดิษฐ์” ของทุกปี

นอกจากนี้ ในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อการพัฒนาประเทศและส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้น จนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลผู้นำโลก (WIPO Global Leader Award)

องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก ทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา (WIPO)

นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประดิษฐ์คือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าเป็นแบบทุ่นลอย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กังหันน้ำชัยพัฒนา โดยหลักเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับผิวน้ำ

จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ให้เป็นวันนักประดิษฐ์ของไทย สืบเนื่องจากเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่พระองค์ทรงคิดค้นไว้

เมื่อคราวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายสิทธิบัตร “เครื่องกลเติมอากาศแบบ อัดอากาศและดูดน้ำ” เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2544 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ที่แสดงว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพและทรงเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริง โดยมีความตอนหนึ่งว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญมาก เมื่อตอนปี พ.ศ.2500 พูดกันว่า เราไปลอกจากต่างประเทศมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าคิดที่จะจดทะเบียนสิทธิบัตร เราสามารถใช้อะไรจากต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้สิทธิ การพูดอย่างนี้ไม่ถูก เป็นการดูถูกคนไทย”

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถวายรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณด้านการศึกษาวิจัยการทำฝนเทียมและพัฒนาดัดแปรสภาพอากาศ

และพระราชดำรัสที่ว่า “ใช้สมองต่างมือ คือใช้ความคิดแล้วถ่ายทอดทำออกมา สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะทำอะไรควรที่จะคุ้มครอง” และ “ถ้ามีทรัพย์สินทางปัญญาคนไทยจะเจริญ” ทรงมีความคิดในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาช่วยประชาชน จึงได้เห็นสิ่งประดิษฐ์อีกมากมายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยดีขึ้น

ดังนั้น ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และศิลปกรรม ตลอดจนหัตถกรรมงานช่าง อันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก

ผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีอยู่มากมาย ผลงานส่วนหนึ่งที่ทรงจดทะเบียนหรือจดแจ้งไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญามีหลายประเภท ดังนี้

1.ผลงานด้านสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร/สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในพระปรมาภิไธย ตั้งแต่ปี 2536 มีทั้งสิ้น 11 ฉบับ ได้แก่ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ 9 ฉบับ สิทธิบัตรออกแบบ 1 ฉบับ และอนุสิทธิบัตร 1 ฉบับ ดังนี้ เช่น สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 3127 เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย (กังหันน้ำชัยพัฒนา) เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับผิวน้ำถวายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536

สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10304 เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ เป็นเครื่องกลเติมอากาศใช้ในการเติมออกซิเจน ลงในน้ำที่ระดับลึกลงไปใต้ผิวน้ำจนถึงด้านล่างของแหล่งน้ำ ถวายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 10764 การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลแทนน้ำมันดีเซล ถวายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2544 อนุสิทธิบัตรเลขที่ 841 การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่น สำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ได้จาก

น้ำมันปิโตรเลียมสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ (เช่น เครื่องรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น) ถวายอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2545

และสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 14859 ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย เป็นภาชนะที่ทรงออกแบบไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับรองรับปัสสาวะของผู้ป่วย ถวายการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในผลงานพระราชนิพนธ์จำนวนมาก ทั้งเพลงพระราชนิพนธ์ บทพระราชนิพนธ์ต่างๆ ภาพถ่ายและภาพวาดฝีพระหัตถ์ อาทิ

ด้านวรรณกรรม จำนวน 6 เล่ม ได้แก่

1) หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่ 2) โครงการทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3) พระมหาชนก 4) นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ 5) ติโต 6) หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่

ด้านจิตรกรรม จำนวน 8 ภาพ ได้แก่

1) ภาพชื่อ “สมเด็จพระราชบิดา” สีน้ำมันบนผ้าใบ พ.ศ.2504 ลงพระนามย่อ ภอ 4-04

2) ภาพชื่อ “ทะเลาะ” สีน้ำมันผ้าใบ พ.ศ.2506 ขนาด 60.5X123.5 ซม.

3) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ.2506 ขนาด 46X61 ซม. ลงพระนามย่อ ภอ 8-10-06

4) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ.2506 ขนาด 45X60 ซม. ลงพระนามย่อ ภอ 8-06

5) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ พ.ศ.2509 ลงพระนามย่อ 3-2-09

6) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ ลงพระนามย่อ ภอ 1-04

7) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ ขนาด 136X143 ซม.

8) ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่ปรากฏชื่อ ขนาด 59X44 ซม.

ด้านประติมากรรม 7 ผลงาน ได้แก่

1) พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครึ่งพระองค์ 2) พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. 3) พระพิมพ์ส่วนพระองค์

4) พระพุทธรูปปางมารวิชัย ภปร. 5) พระพุทธนวราชบพิตร (ปางมารวิชัย) 6) เหรียญพระมหาชนก 7) รูปปั้นหญิงเปลือยนั่งคุกเข่า

2.4 ด้านภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ 10 ภาพ ได้แก่ 1) ภาพถ่าย “ตามรอยพระยุคลบาท” 2) ภาพถ่ายเรือรบจำลอง 3) ภาพถ่าย “คู่ดาว” 4) ภาพถ่าย “จ้อง”

5) ภาพถ่าย “สามัคคีสี่พระหัตถ์” 6) ภาพถ่าย “ในอ้อมพระกร” 7) ภาพถ่าย “สงบ” 8) ภาพถ่าย “พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม” 9) ภาพถ่าย “น้ำท่วม” 10) ภาพถ่าย “เส้นสุนทรีย์”

ด้านดนตรี จำนวน 48 เพลง ได้แก่

1) เพลงแสงเทียน (Candle Light) 2) เพลงยามเย็น (Love at Sundown) 3) เพลงสายฝน (Falling Rain) 4) เพลงใกล้รุ่ง (Near Dawn) 5) เพลงชะตาชีวิต (H.M. Blues) 6) เพลงดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues) 7) เพลงราชวัลลภ (Royal Guards March) 8) เพลงอาทิตย์อับแสง (Blue Day)

9) เพลงเทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) 10) เพลงคำหวาน (Sweet Words) 11) เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ 12) เพลงแก้วตาขวัญใจ (Love Light in My Heart) 13) เพลงพรปีใหม่ 14) เพลงรักคืนเรือน (Love Over Again) 15) เพลงยามค่ำ (Twilight) 16) เพลงยิ้มสู้ (Smiles) 17) เพลงธงไชยเฉลิมพล (The Colours March) 18) เพลงเมื่อโสมส่อง (I Never Dream) 19) เพลงลมหนาว (Love in Spring) 20) เพลงศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)

21) เพลง Oh I Say 22) เพลง Can’t You Ever See 23) เพลง Lay Kram Goes Dixie 24) เพลงค่ำแล้ว (Lullaby) 25) เพลงสายลม (I Think of You) 26) เพลงไกลกังวล เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย (When) 27) เพลงแสงเดือน (Magic Beams) 28) เพลงฝัน เพลินภูพิงค์ (Somewhere Somehow) 29) เพลงราชนาวิกโยธิน 30) เพลงภิรมย์รัก Kinari Suite: A Love Story 31) เพลง Kinari Suit: Nature Waltz 32) เพลง Kinari Suite: The Hunter 33) เพลง Kinari Suite: Kinari Waltz 34) เพลงแผ่นดินของเรา (Alexandra) 35) เพลงพระมหามงคล 36) เพลงธรรมศาสตร์ 37) เพลงในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind) 38) เพลงเตือนใจ (Old Fashioned Melody) 39) เพลงไร้จันทร์ ไร้เดือน (No Moon) 40) เพลงเกาะในฝัน (Dream Island) 41) เพลงแว่ว (Echo) 42) เพลงเกษตรศาสตร์

43) เพลงความฝันอันสูงสุด 44) เพลงเราสู้ 45) เพลง เรา-เหล่าราบ 21 46) เพลง Blues for Uthit 47) เพลงรัก 48) เพลงเมนูไข่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และศิลปกรรม ตลอดจนหัตถกรรมงานช่าง อันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมาก งานเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า เพื่อให้ผลงานสร้างสรรค์ของพระองค์เป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา คู่แผ่นดินไทย” พระองค์ทรงทุ่มเท อุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัย

จนกระทั่งนวัตกรรมนั้นประสบผลสำเร็จ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยและผู้ด้อยโอกาสให้พ้นจากความทุกข์ยาก ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

และทรงพัฒนาประเทศชาติจนเจริญก้าวหน้าภายใต้หลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง