ครย.112 ยื่นหนังสือถาม ‘ชัยวุฒิ’ ขอดูคำสั่งศาล คาใจ ‘ดีอี’ ปิดเว็บฯลงชื่อยกเลิกกฎหมาย

ครย.112 ยื่นหนังสือถาม ‘ชัยวุฒิ’ ขอดูคำสั่งศาล คาใจ ‘ดีอี’ ปิดเว็บฯลงชื่อยกเลิกกฎหมาย

 

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย. 112) เดินทางไปยัง อาคารรัฐศาสนประสานภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ต่อกรณีปิดกั้นเว็บไซต์ http://www.no112.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดทำโดยคณะก้าวหน้า กลุ่มคณะราษเปซ และเครือข่ายนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในนามคณะราษฎรยกเลิก 112 เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าวร่วมลงชื่อ
.
ภายในหน้าเว็บไซต์ปรากฏข้อความว่า “เนื้อหานี้ถูกระงับเนื่องจากมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือเข้าเครือข่ายกระทำผิดตามพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” ทำให้กลุ่มครย.112 รวมตัวกันเพื่อทวงถามคำตอบจากรัฐมนตรีกระทรวงดีอี เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่างเป็นการแสดงความเห็นและการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั่วไป โดยตั้งแต่การเริ่มรณรงค์มีประชาชนให้ความสนใจอย่างคึกคัก ทำให้สามารถรวบรวมรายชื่อ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กว่า 240,000 รายชื่อ โดยตัวแทนกลุ่มครย.112 ระบุว่าการปิดกั้นเว็บไซต์เท่ากับปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และต้องการให้ดีอีตอบคำถามว่ามีอำนาจอะไรในการสั่งปิด

ธนพร วิจันทร์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่มครย. 112 ได้อ่านเนื้อหาในหนังสือที่ยื่นกับรัฐมนตรีกระทรวงดีอี ใจความ ว่า “ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มเข้าชื่อเสนอกฎหมายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … และเป็นผู้ร่วมจัดทำเว็บไซต์ ทราบว่าขั้นตอนตามพร.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ระบุว่าเว็บไซต์ที่จะถูกปิดกั้นได้ต้องมีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ หรือคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่ามีข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และต้องให้รัฐมนตรีเห็นชอบก่อนยื่นคำร้องขออนุมัติการปิดกั้นต่อศาล และในชั้นศาลจะต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลบนเว็บไซต์ได้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านได้ ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ริเริ่มและกลุ่มครย.กลับไม่ได้รับแจ้งให้ดำเนินการใดๆ หรือมีโอกาสใช้สิทธิคัดค้านเลย”

ด้านสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตนักโทษคดี 112 และหนึ่งในตัวแทนกลุ่มครย.112 กล่าวว่า กระทรวงดีอี ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลตามที่กระทรวงประกาศไว้ว่าต้องการให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจดิจิทัล และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ การจัดลำดับการแข่งขันทางดิจิทัลของเราอยู่ในลำดับที่สาม 38 จาก 65 ประเทศ เราตกอยู่ในสถานะที่ล้าหลังของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากกระทรวงดีอีทำแต่เรื่องจำกัดเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน

โดยเฉพาะการปิดเว็บไซต์ ปีที่แล้ว กระทรวงดีอีได้แถลงว่า ได้ปิดเว็บไซต์ที่แสดงเนื้อหาทางการเมืองกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์รวมแล้วกว่า 260 คำสั่ง ปิด url ไปแล้วกว่า 6,000 url แสดงว่ากระทรวงแทบจะไม่ทำงานหลักในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล แต่กลับมุ่งปิดเว็บไซต์ที่มีการแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมือง เว็บไซต์ http://www.no112.org เป็นช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมือง เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อ เพื่อให้มีการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ควบคุมจำกัดเสรีภาพของประชาชน
.
ทั้งนี้ ทางกระทรวงดีอี มีเจ้าหน้าที่กระทรวงเดินทางมารับหนังสือ และหลังจากที่ได้รับยื่นหนังสือจากกลุ่มครย.112 ก็ได้แจ้งกลับมาว่า สาเหตุที่ปิดเว็บไซต์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นคำสั่งศาล “มีคำสั่งศาลแล้ว เนื่องจากตีลับมาก ขออนุญาตทำตามขั้นตอน” ทำให้กลุ่มครย.112 ตั้งใจว่าจะยื่นหนังสือผ่านสภา และขอให้กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องช่วยเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป