“ณัฐพล” ออกจม.เปิดผนึก หลังสอบข้อเท็จจริง กรณี “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” มีกระบวนการผิดปกติ

“ณัฐพล” ออกจม.เปิดผนึกแจงสาธารณชน หลังการสอบข้อเท็จจริง กรณีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ก่อนเป็นหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” มีกระบวนการผิดปกติ ซ้ำมีสอดแทรกข้อกล่าวหาเพิ่มโดยพลการ-ไม่แจ้งล่วงหน้า ยันเอกสารอ้างอิงที่ใช้เป็นของจริง วอนขอความเป็นธรรม พร้อมขอบคุณ “รศ.ดร.เขมรัฐ” กก.สภาจุฬาฯ ยืนหยัดตามหลักวิชาการ 

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เจ้าของงานเขียนขึ้นชื่อหลายชิ้นโดยเฉพาะ การเมืองไทยในยุคเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 และยุคคณะราษฎร ที่กล่าวขานทั้งเรื่อง “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” จนถึง “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” และงานเขียนอีกหลายชิ้น ได้ออกจดหมายเปิดผนึก กรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ที่ได้ตั้งคณะกรรมสอบข้อเท็จจริง ตามที่มีการกล่าวหาว่า ใช้เอกสารอ้างอิงเท็จในวิทยานิพนธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีข่าวระบุผลสอบออกเรียบร้อยแล้ว และมีรายงานเกี่ยวกับการฟ้องร้องทางคดี กับณัฐพล รวมถึงกุลลดา เกตุบุญชู มิ้ด นักวิชาการรัฐศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของณัฐพล อย่างไรก็ตาม มีรายงานออกมาไม่นานมานี้ ที่ระบุ กระบวนการสอบข้อเท็จจริง มีความผิดปกติ ถึงขั้นว่าเป็นการละเมิดและบิดเบือนกระบวนการสอบที่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะการแทรกข้อมูลเท็จเข้าไปในรายงานสอบสวนโดยไม่แจ้งและไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบและโต้แย้ง ทำให้ล่าสุด ณัฐพล ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เพื่อชี้แจงสิ่งที่ได้รับในช่วงกระบวนการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดดังนี้

ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการร้องเรียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “การเมืองไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500)” ของข้าพเจ้าเมื่อต้นปี 2564 อันประกอบด้วย

1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ

2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการ

3. ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกรรมการ

4. ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ์ วิไลวัลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ

5. ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม เป็นเลขานุการ

ต่อมา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 เฟสบุ๊คของ ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ได้โพสต์ว่า “ผมได้ยินมาว่า ผลสอบณัฐพล ใจจริง เรื่องวิทยานิพนธ์ที่มี data falsification และ data fabrication ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสอบสวน ได้ผลออกมาเป็นที่เรียบร้อย และคณะกรรมการดังกล่าวได้นำผลการสอบสวนส่งให้ทางผู้บริหารของจุฬาเรียบร้อยแล้วเช่นกัน…”

และเมื่อ 23 กรกฎาคม 2565 TOP NEWS จัดรายงานเรื่อง “ณัฐพลโดนคดีฟ้องแพ่ง 50 ล้าน ผลสอบจุฬาฯถอดวิทยานิพนธ์ล้มเจ้า” โดยแจ้งในรายการว่า ผลสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว มีการกล่าวถึงหนังสือพิมพ์เอกราช ที่มีผลไม่เป็นคุณต่อข้าพเจ้า การเสนอข้อมูลเช่นนี้เกิดขึ้นราวกับว่ามีการปล่อยผลการสอบสวนให้กับสื่อล่วงหน้า ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าไม่สบายใจอย่างยิ่ง

ข้อความข้างต้นคือการกล่าวหาว่าข้าพเจ้าสร้างเอกสารอ้างอิงเท็จ ในทำนองว่าหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ที่ข้าพเจ้าอ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นไม่มีอยู่จริง ข้อกล่าวหานี้มีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับข้อกล่าวหาของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ที่กล่าวหาข้าพเจ้าในเฟสบุ๊คเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่าหนังสือพิมพ์เอกราชปี 2490 ที่ข้าพเจ้าอ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นไม่มีอยู่จริง เนื่องจากหนังสือพิมพ์เอกราชมีขึ้นครั้งแรกในปี 2500 ต่อข้อกล่าวหาข้างต้นนี้

1. ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า หนังสือพิมพ์เอกราชฉบับ 10 พฤศจิกายน 2490 ที่ข้าพเจ้าใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์นั้นมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์การหนังสือพิมพ์ของไทย เป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง คือ นายอิศรา อมันตกุล นักเขียน นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น และนายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยท่านแรก ซึ่งเป็นคนละฉบับกับหนังสือพิมพ์เอกราชที่ศ.ดร.ไชยันต์ใช้กล่าวหาข้าพเจ้า โดยหนังสือพิมพ์เอกราชที่มีชือเหมือนกันตามนี้ ตามประวัติเป็นหนังสือพิมพ์ใน

ระดับท้องถิ่นของจังหวัดลำปางนั้นก่อตั้งขึ้นทีหลัง เมื่อปี 2500  จากกรณีนี้ ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจยื่นฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ฐานหมิ่นประมาทต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1701/2565 ดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช 2 ฉบับนี้ ต่อมาได้มีผู้ใช้นามปากกา “ผีดำผีแดง” อธิบายรายละเอียดโดยสังเขปไว้ในบทความชื่อ “ณัฐพลกับไชยันต์ ใครบิดเบือนหลักฐานเพื่อสาดโคลนผู้อื่นกันแน่” ในสื่อออนไลน์ ประชาไท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ซึ่งบทความนั้นได้แสดงภาพถ่ายหัวหนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 ประกอบ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกับที่ข้าพเจ้าเคยทำสำเนาคัดออกมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อครั้งค้นคว้าทำวิทยานิพนธ์เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ในการนี้ ข้าพเจ้าได้แนบหัวหนังสือพิมพ์เอกราชที่ข้าพเจ้ามีพร้อมกันนี้ด้วย โดยเป็นการเปิดเผยเพียงบางส่วนก่อน และจะเปิดเผยต่อไปในการต่อสู้ในชั้นศาล (โปรดดูเอกสารแนบฉบับที่ 1)

2. และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ข้าพเจ้ายังคงไม่ได้รับทราบผลการสอบสวนใดๆอย่างเป็นทางการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมือนอย่างเคย นอกจากการฟังการนำเสนอข่าวจากสื่อฝ่ายขวาที่ดูราวกับทราบผลล่วงหน้าว่า ผลสอบไม่เป็นคุณกับข้าพเจ้า แต่กลับปรากฎรายงานข่าวเปิดเผยความไม่โปร่งใสในการสอบหาข้อเท็จจริงและการรายงานเท็จต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในกรณีตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า อันปรากฏอยู่ใน เว็ปไซด์มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 สิงหาคม 2565 อันมีเรื่องราวโดยสังเขปว่า กรรมการสภามหาวิทยาลัยท่านหนึ่งคือ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์

เห็นความผิดปกติในกระบวนการสอบข้อเท็จจริงวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อแย้งผลการสอบสวนและกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการสอบวิทยานิพนธ์ ดังข้อความที่ว่า:

คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ต่อนายณัฐพล และไม่มีการเรียกหลักฐานเอกสารหนังสือพิมพ์เอกราชดังกล่าวจากนายณัฐพลการกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการละเมิด (violate) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอธิบาย โต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และทราบว่ากรรมการทุกท่านทราบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดำเนินการต่อ… โดยข้อนี้ ผมถือว่าร้ายแรงมาก เป็นการละเมิดกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (violate due process) ของนายณัฐพลอย่างชัดเจน ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจจะมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด หากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล

ด้วยเหตุที่ ข้าพเจ้ายังคงรอผลสอบสวนอย่างเป็นทางการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น  เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบข่าวความผิดปกติในกระบวนการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าดังกล่าว ในความรู้สึกแรกนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจและรู้สึกขอบคุณที่มีผู้ชี้แจงเหตุผิดปกติในกระบวนการสอบสวนวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน ยิ่งเมื่อข้าพเจ้าอ่านเนื้อความในหนังสือร้องเรียนโดยละเอียดแล้ว ซึ่งหากเอกสารนี้เป็นความจริงแล้ว การลำดับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้นั้นยิ่งทำให้ข้าพเจ้าผิดหวังและเศร้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่ประกอบด้วยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิในระดับเอกอุของประเทศ และหลายท่านเกี่ยวข้องกับการร่างและบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะสามารถกระทำการดังกล่าวได้ 

ที่ผ่านมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ไม่เคยติดต่อสอบถามข้าพเจ้าเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชมาก่อนเลย ทั้งโดยทางเอกสารและวาจา ดังในหนังสือที่ อว 64.2.16/ 269 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2464 ที่มาถึงข้าพเจ้า (โปรดดูเอกสารแนบ 2) นั้น ไม่มีการกล่าวถึงหนังสือพิมพ์เอกราชแต่อย่างใด รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คนที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแต่งตั้งให้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้า ก็ไม่เคยระบุว่าหนังสือพิมพ์เอกราชที่ข้าพเจ้าใช้อ้างอิงนั้นมีปัญหาน่าคลางแคลงใจแต่ประการใด หากคณะกรรมสอบข้อเท็จจริงมีข้อกังขาเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชเพิ่มเติมในภายหลัง ก็ควรแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยตรง เพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงและยื่นหลักฐานให้พิจารณาอย่างเร่งด่วน

แต่จากรายงานข่าวที่ปรากฏออกมา นอกจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไม่เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแล้ว คณะกรรมการฯ ยังสรุปเอาเองว่า ข้าพเจ้ามีความผิดด้วยการสร้างหลักฐานเท็จเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ และยังรายงานความเท็จนี้ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้ออกมาตรการลงโทษข้าพเจ้าอีกด้วย ย่อมหมายความว่าการดำเนินการของคณะกรรมการสอบฯ ได้ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของข้าพเจ้าในฐานะผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นการละเมิดหลักความยุติธรรมที่จะต้องคำนึงถึงกระบวนการที่เปิดเผยโปร่งใสและเคารพในสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหา

  1. ในจดหมายที่ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังได้ส่งความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านที่คณะกรรมการเชิญมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์มายังข้าพเจ้า โดยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด มิได้มีความเห็นไปในทางเดียวกัน หมายความว่า ผู้เชี่ยวชาญมิได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าข้าพเจ้ามีความผิด โดยข้าพเจ้าขอสรุปสาระสำคัญดังต่อไปนี้

3.1 ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 1 ประเด็นสำคัญและร้ายแรงของผู้เชี่ยวชาญท่านนี้คือ การกล่าวหาว่าข้อความที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าที่ว่า “…จากการเปิดเผยในการประชุมสภาผู้แทนฯ ในปลายเดือนสิงหาคม 2500 ถึงการประชุม 4 จอมพล เพื่อจับกุมพระมหากษัตริย์นี้ การประชุม 4 จอมพล ดังกล่าว จอมพล ป. มิได้เข้าร่วมประชุมด้วย” เข้าลักษณะสร้างข้อมูลเท็จ ทั้งปลอมแปลงและดัดแปลงข้อมูลออกมาเป็นข้อความที่ร้ายแรงขั้นอุกฤษฏ์…”

ข้าพเจ้าได้ส่งคำชี้แจงและตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว กลับไปยังประธานคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ว่าผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บกพร่องในการอ่านเอกสารเองอย่างเห็นได้ชัดความว่า

ในกรณีนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า ในหน้า 1033 ของรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10/ 2500 (สามัญ) อันเป็นเอกสารที่ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ส่งมาให้ข้าพเจ้า มีข้อความระบุว่า “เขาบอกว่าอย่างนี้ครับ บอกว่า ฯพณฯ รัฐมนตรีมหาดไทย นายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ โปรดเสนอให้มีการจับกุมองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐมนตรีบางคนและนักการเมืองบางคน ว่าอย่างนี้ครับ” ฉะนั้น จากคำอธิบายในข้อ 1.4 และ 1.5 ข้าพเจ้าจึงขอปฏิเสธข้อกล่าวหาร้ายแรงดังกล่าวของผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 1

สำหรับสาเหตุ ที่บุคคลสำคัญในรัฐบาลจอมพล ป.จะกระทำเช่นนั้น ปรากฏในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10/ 2500 (สามัญ) ชุดที่ 2 วันที่ 29 สิงหาคม 2500 ปรากฏข้อความในหน้า 1031-1032 ได้เท้าความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ในการประชุมพรรคเสรีมนังคศิลา ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาบ่ายโมง วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นี่ผมก็ได้มาจากในพรรคของท่านนั้นเอง ซึ่งประชุมเฉพาะ ก่อนที่ประชุมเฉพาะส.ส.มนังคศิลา ประเภท 1 เขาบอกว่า ฯพณฯนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบต่อหน้า ฯพณฯจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ได้มีหลักฐานแน่นอนว่า ประทานโทษครับ ในหลวงทรงมอบเงิน 7 แสนบาทให้ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชกับนายควง อภัยวงศ์มาเล่นการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ นี่ข่าวมันออกมาว่าอย่างนี้”

ส่วนความจริงจะเป็นเช่นไรนั้น ข้าพเจ้ามิอาจทราบได้แต่เรื่องดังกล่าวมีการอภิปรายไว้ในสภาผู้แทนฯ และมีการบันทึกเป็นหลักฐานของทางราชการไว้ ดังนั้น ข้อความที่ข้าพเจ้าเขียนในดุษฎีนิพนธ์จึงเป็นการสรุปสาระสำคัญจากหลักฐานต่างๆ เช่น รายงานการประชุมสภาผู้แทนฯ ที่ข้าพเจ้าสามารถสรุปรวบรวมมาได้เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น

3.2 ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 2 นอกจากจะวิจารณ์แล้ว ยังเห็นว่า “ข้อเด่นของงานวิทยานิพนธ์นี้อยู่ที่การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและการต่างประเทศนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี พ.ศ. 2500 ได้อย่างละเอียดรอบด้านและชวนติดตาม งานยังวิเคราะห์บทบาทของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศได้อย่างลุ่มลึก แนวการวิเคราะห์ที่โดดเด่น คือ แนวทางที่ผู้วิพากษ์ อยากใช้คำว่า ‘ย้ายขุนเขา’ ในนัยของการไม่ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเสมอไป เพราะนับแต่ยุคอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างช้า กงล้อประวัติศาสตร์ก็ได้ถูกขับเคลื่อนโดย ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ ที่หลากหลาย ในที่นี้ผู้เขียนได้ให้น้ำหนักและความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ การตีแผ่การแทรกแซงการเมืองไทยของสหรัฐฯ ที่ย้อนไปจน ‘ถึงต้นน้ำ’ คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยทำให้เกิดความกระจ่างชัดว่า การแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ มิใช่พึ่งจะเริ่มในยุคนี้ ทุกอย่างเป็นมาเป็นไปบนวิถีที่มหาอำนาจนั้น คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งตนเป็นที่ตั้ง คุณูปการของงานวิทยานิพนธ์ในส่วนนี้ ไม่อาจมองข้ามได้และท่านมิได้กล่าวหาว่า ข้าพเจ้ามีพฤติกรรมดังที่ท่านที่ 1 กล่าวหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้  ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 2 ยังเสริมถึงลักษณะธรรมชาติของการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการอีกว่า “ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนใคร่ย้ำในส่วนท้ายของการวิพากษ์งานวิทยานิพนธ์ เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) เมื่อได้ถูกเขียนออกมาแล้ว ต้องนับเป็นสมบัติทางวิชาการของแผ่นดิน และย่อมเป็นปกติวิสัยที่งานจะมีทั้งข้อเด่นและข้อด้อย แทนที่จะมุ่งทำลายหักล้างและด้อยค่างาน ควรที่ผู้ศึกษาจะพึงใช้วิจารณญาณแยกแยะด้วยใจเป็นธรรม ระมัดระวังในด้านที่เป็นข้อด้อย และยังประโยชน์ในด้านที่เป็นข้อเด่น ในด้านของผู้วิพากษ์ต้องขอสารภาพว่า ผู้วิพากษ์ไม่ได้มีความชำนาญประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาที่ผู้เขียน (นายณัฐพล) ศึกษา การวิพากษ์เป็นการตรวจสอบการใช้ข้อมูลหลักฐานจากงานวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเป็นสำคัญ จึงเป็นไปได้ที่งานวิพากษ์นี้อาจมีข้อบกพร่อง และผู้วิพากษ์เองก็มิได้เห็นว่างานวิพากษ์นี้จะเป็นข้อยุติ และถ้าจะเป็นก็เป็นเพียงอีกมุมมองหนึ่งทางวิชาการของนักวิชาการคนหนึ่งต่องานวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง

3.3 ผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 3 ให้คำแนะนำและตระหนักถึงการปรากฏของข้อความที่ข้าพเจ้าตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดไว้ในวิทยานิพนธ์ครั้งนั้น โดยท่านที่ 3 ได้เขียนไว้ในรายงานว่า “อย่างไรก็ดี ผู้เขียน (ณัฐพล) ได้ระบุไว้ในข้อ 1.8 หน้า 25 ว่า ภาพการเมืองไทยที่ปรากฏจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังคงรอการยืนยันและโต้แย้งหรือถกเถียงจากการค้นคว้าวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป” ซึ่งท่านหมายความว่า ท่านเห็นว่าข้าพเจ้าตระหนักดีว่าการสร้างองค์ความรู้ในวิทยานิพนธ์เปรียบเหมือนแบบจำลองทางความรู้ที่รอการยืนยันหรือหักล้างต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นวิถีปกติแห่งโลกทางวิชาการ และท่านให้คำแนะนำหลายประการต่อข้าพเจ้า เช่น การค้นคว้าเอกสารไทยให้มากขึ้น ซึ่งข้าพเจ้าขอน้อมรับคำแนะนำที่มีคุณค่าเหล่านี้เพื่อใช้ในการค้นคว้าต่อไปในอนาคต และที่สำคัญท่านมิได้กล่าวหาว่า ข้าพเจ้ามีพฤติกรรมดังที่ท่านที่ 1 กล่าวหาแต่อย่างใด

3.4 ส่วนผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 4 นั้น ท่านตรวจสอบแล้ว เห็นว่าข้อความส่วนใหญ่และการอ้างอิงเหมาะสม ยอมรับได้ ให้ข้าพเจ้าปรับปรุงเล็กน้อย และที่สำคัญท่านมิได้กล่าวหาว่า ข้าพเจ้ามีพฤติกรรมดังที่ท่านที่ 1 กล่าวหาแต่อย่างใด

ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือคำชี้แจงตอบผู้เชี่ยวชาญทุกท่านกลับไปยังประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 (โปรดดูเอกสารแนบ 3)

อาจสรุปได้ว่า จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งตั้งข้างต้นนั้น สามารถจำแนกความเห็นได้ดังนี้ คือ 1 ท่านวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อกล่าวหาข้าพเจ้าอย่างรุนแรง ส่วน 2 ท่านนั้น วิจารณ์ แนะนำ ชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของวิทยานิพนธ์ และตระหนักว่าวิทยานิพนธ์คือแบบจำลองของความรู้ที่รอการหักล้างหรือยืนยันทางวิชาการต่อไปในอนาคต และที่สำคัญไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหารุนแรงอย่างคนแรก และอีก 1 ท่านมีความเห็นในทางเป็นคุณแก่ข้าพเจ้า และที่สำคัญไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหารุนแรงอย่างคนแรกเช่นกัน

ความเห็นของข้าพเจ้าข้างต้นจึงมีความสอดคล้องกับข้อความในหนังสือร้องเรียนของรศ.ดร.เขมรัฐ ในส่วนที่ว่า  “…หลังจากที่นายณัฐพล ทำจดหมายตอบคำวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คน ส่งมายังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ได้ส่งคำตอบของนายณัฐพลดังกล่าวไปยังผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ทางไปรษณีย์เพื่อพิจารณาคำตอบของนายณัฐพล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวที่มีการโต้แย้งการตอบกลับมารอบที่ 2 ซึ่งอาจแปลว่า ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน พอใจหรือเห็นด้วยกับคำตอบส่วนใหญ่ของนายณัฐพล

  1. เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อแนวทางของมหาวิทยาลัยอันมีต่อข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าจะเร่งทำหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสอบถามในประเด็นทั้งหมดข้างต้นต่อไป

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าใคร่เรียนให้สาธารณชนทราบว่า นับตั้งแต่ที่ข้าพเจ้ายื่นคำชี้แจงต่อประธานกรรมการฯ ไปเมื่อวันที่  30 พฤศจิกายน 2564 จวบจนปัจจุบันนั้น คณะกรรมการฯ ก็มิได้แจ้งผลการสอบสวน หรือร้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากข้าพเจ้าอีกเลย แต่กลับปรากฏข่าวข้างต้นว่า คณะกรรมการสอบฯ ได้สรุปผลการสอบวิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าเสร็จสิ้นแล้วว่า ข้าพเจ้ามีความผิดจริง ประกอบกับดูเหมือนจะมีการสอดแทรกข้อกล่าวหาใหม่เรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชเข้ามาโดยไม่เคยแจ้งกับข้าพเจ้า และทั้งยังมีการรายงานเท็จต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อโน้มน้าวให้สภามหาวิทยาลัยมีมติลงโทษข้าพเจ้าอีกด้วย

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการลงมติใดๆ ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงควรวางอยู่บนคำวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก ต้องไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเข้ามาเองโดยพลการ หากมีคำถามใหม่ก็ต้องให้โอกาสข้าพเจ้าชี้แจงตอบคำถามตามกระบวนการที่เปิดเผยและยุติธรรม และหากผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นว่าข้าพเจ้าไม่มีความผิด คณะกรรมการฯ ก็ต้องกล้ายืนยันตามหลักวิชา ข้อเท็จจริง โดยไม่เกรงกลัวต่อกระแสการเมืองใดๆ

ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยในความกล้าหาญทางวิชาการ และหยัดตรงในหลักความยุติธรรมของท่านที่มีให้กับผู้น้อยเช่นข้าพเจ้าเป็นอย่างสูง ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบหรือรู้จักท่านมาก่อน ข้าพเจ้ายังหวังว่าผู้ที่มีใจเที่ยงธรรมทั้งหลายย่อมเห็นว่าการกระทำดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงไม่ยุติธรรมต่อข้าพเจ้าในฐานะอดีตนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่กลับจะสร้างความเสื่อมเสียเกียรติยศให้แก่มหาวิทยาลัยที่ภูมิใจว่าตนคือ “เสาหลักของแผ่นดิน” เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศอย่างยากที่จะฟื้นฟูได้ ยังไม่นับถึงผลกระทบต่อวงวิชาการไทยที่ต้องเผชิญกับความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามต่อเสรีภาพทางวิชาการ ที่นับวันมีแต่จะหดแคบลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าจึงหวังว่าผู้มีจิตใจเที่ยงธรรม รวมทั้ง กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่างๆ เป็นผู้มีลูกศิษย์ลูกหา ประกอบคุณูปการต่อประเทศชาติ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนับถืออย่างมาก จะไม่ทนนิ่งเฉยต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้

สุดท้ายนี้ ขอให้สาธารณชนผู้รักความเป็นธรรม โปรดส่งกำลังใจแด่ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ครูที่ต้องมรสุมร่วมไปกับข้าพเจ้าด้วย

ด้วยจิตคารวะ

นายณัฐพล ใจจริง