ยื่นร้องนายกสภาจุฬาฯ ชี้เลขากก.สอบข้อเท็จจริงวิทยานิพนธ์ “ณัฐพล” ส่งรายงานเท็จ จี้สอบสวนรอบคอบ

กก.สภาฯจุฬาฯทำหนังสือร้องนายกสภาฯ ระบุเลขานุการคณะกก.สอบข้อเท็จจริงกรณีการร้องเรียนวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง รายงานข้อมูลเท็จต่อสภามหาวิทยาลัยที่ระบุ นสพ.เอกราชที่ผู้ทำวิทยานิพนธ์ใช้อ้างอิง ไม่มีอยู่จริง ชี้ไม่ควรเกิดและบันทึกในการประชุม วอนดำเนินการสอบสวนอย่างรอบคอบ

 

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีเอกสารถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ระบุถึงจดหมายเปิดผนึก จาก รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเภทคณาจารย์ประจำ ส่งเรียนถึงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีการสอบสวนอย่างรอบคอบ หลังพบว่ารายงานสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิทยาพินธ์ปริญญาเอกของ ณัฐพล ใจจริง อาจารย์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ศึกษาบทบาทของสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทย ยุคปี 2495-2500 และกลายเป็นงานเขียนที่กล่าวขานและถูกถกเถียงมากในขณะนี้อย่าง “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ที่เลขานุการคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เสนอต่อนายกสภาฯนั้น เป็นรายงานเท็จ เพราะมีการใช้ข้อมูลปลอมมาประกอบรายงานการสอบสวนและใช้กล่าวหากับผู้ถูกสอบสวนอย่างณัฐพลอย่างผิดๆ

ในเนื้อหาจดหมายระบุว่า จากที่ได้ดูเอกสารรายงานสอบข้อเท็จจริงและสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมาณ 2 ชั่วโมง คิดว่ากรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกท่าน ควรใช้เวลาศึกษาเอกสารการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น นอกเหนือจากการฟังเฉพาะการนำเสนอในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้การพิจารณาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ จึงขออนุญาตแจ้งท่านนายกสภามหาวิทยาลัยในเรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และเรื่องที่อาจจะมีปัญหาของการสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้

  1. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ส่งวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล และข้อร้องเรียน 31 ข้อ ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน เพื่อพิจารณาให้ความเห็น โดยในผลการพิจารณาของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ในรอบแรก อ่านโดยรวม วิพากษ์ในแง่ลบ 3 คน แต่มีวิพากษ์เป็นคุณ 1 คน โดยส่วนวิพากษ์เป็นคุณระบุว่า ข้อร้องเรียน 31 ข้อนั้น ส่วนใหญ่เนื้อหาการเขียนในวิทยานิพนธ์และการอ้างอิงพอรับได้ และเหมาะสมดี ควรมีปรับปรุงเพียงส่วนน้อย
  2. คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ส่งคำวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ในข้อ 1 ให้นายณัฐพลทางไปรษณีย์เพื่อให้นายณัฐพลตอบข้อวิพากษ์หรือข้อสงสัยของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 และหลังจากที่นายณัฐพล ทำจดหมายตอบคำวิพากษ์ของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 คน ส่งมายังคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงก็ได้ส่งคำตอบของนายณัฐพลดังกล่าวไปยังผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ทางไปรษณีย์เพื่อพิจารณาคำตอบของนายณัฐพล โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวที่มีการโต้แย้งการตอบกลับมารอบที่ 2 ซึ่งอาจแปลว่า ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน พอใจหรือเห็นด้วยกับคำตอบส่วนใหญ่ของนายณัฐพล
  3. ในกรณีการอ้างอิงหนังสือพิมพ์ “เอกราช” ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ที่มีการกล่าวหาว่านายณัฐพลอ้างเอกสารอ้างอิงเท็จในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงที่ส่งให้สภามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ผมได้ทราบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ว่า “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหานี้ต่อนายณัฐพล และไม่มีการเรียกหลักฐานเอกสารหนังสือพิมพ์เอกราชดังกล่าวจากนายณัฐพล” การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเป็นการ ละเมิด (violate) สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการอธิบาย โต้แย้งหรือแก้ข้อกล่าวหา และทราบว่ากรรมการทุกท่านทราบว่าไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสอบสวนที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดำเนินการต่อ (ดูจากรายงานการประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่มีมติให้ดำเนินการหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์เอกราช) โดยข้อนี้ ผมถือว่าร้ายแรงมาก เป็นการละเมิดกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (violate due process) ของนายณัฐพลอย่างชัดเจน ควรจะมีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนว่าทำไมถึงเกิดขึ้น เพราะอาจจะมีผลทำให้กระบวนการหาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นโมฆะ และต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนใหม่ทั้งหมด หากต้องพิจารณาเรื่องนี้ในศาล
  4. และเป็นที่แน่นอนว่า หนังสือพิมพ์เอกราช ฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีอยู่จริง นั้นหมายความว่า การนำเสนอของเลขานุการสอบข้อเท็จจริง ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ผ่านมา มีการนำเอาข้อมูลปลอม (fake news/misinformation) มานำเสนอในการประชุมในการกล่าวหานายณัฐพลอย่างผิดๆ ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับข้อมูลที่ไม่จริงมาประกอบการตัดสินใจ การนำ fake news/misinformation ในประกอบการนำเสนอในการประชุมสภามหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเรื่องใดๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นและไม่ควรบันทึกในรายงานการประชุม หรือถ้าจะบันทึก ก็ควรมีหมายเหตุว่าเป็น fake news/misinformation

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไปตามสมควร

ด้วยความเคารพอย่างสูง

รองศาสตราจารย์ ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์