อ.นิด้า ชี้ 8 ปี ‘ประยุทธ์’ จะเป็นต้นเหตุวิกฤตการเมืองรอบใหม่

อ.นิด้า ชี้ 8 ปี ประยุทธ์ จะเป็นต้นเหตุวิกฤตการเมืองรอบใหม่ หากไม่ทำตามเจตนารมณ์รธน.

 

วันที่ 11 ส.ค.2565 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ แสดงความเห็นวาระ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดย ระบุว่า

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นที่มาของการบัญญัติเช่นนี้ได้นับการเขียนไว้ในหนังสือ “คำมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 ย่อหน้าสุดท้าย ความว่า

“การกำหนดระยะเวลา แปดปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติทางการเมืองได้”

คำถามคือ นานเกินไปนั้นกี่ปี

คำตอบก็ปรากฏในบทบัญญัติมาตรา 158 อย่างชัดเจนแล้วคือ หากเกิน 8 ปี ก็ถือว่านานเกินไป

ความเป็นจริงที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือนได้คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องกันครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 อย่างแน่นอน ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดหรือการตีความแบบใดที่ล้มล้างความจริงประการนี้ได้

ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ก็ใกล้จะเข้าข่ายผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวนานเกินไป ตามที่ระบุเอาไว้ในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

ประกอบกับ สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันก็มีร่องรอยหลักฐานการปรากฎตัวของวิกฤติทางการเมือง อันเนื่องมาจากการผูกขาดอำนาจที่ยาวนานเกินไปของพลเอกประยุทธ์ ด้วยเหตุนี้การดำรงตำแหน่งต่อไปของพลเอกประยุทธ์ โดยไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้พลเอกประยุทธ์มีโอกาสกลายเป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤติทางการเมืองครั้งใหม่ในสังคมได้

การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ จะหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤติการเมือง หรือ เร่งเร้าให้เกิดวิกฤติทางการเมือง

หากตัดสินใจ ยุติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ วิกฤติทางการเมืองที่กำลังก่อตัวก็อาจบรรเทาลงและสลายไปได้

แต่หากตัดสินใจอยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่ให้ความสำคัญกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ วิกฤติการเมืองครั้งใหม่ในอนาคตอันใกล้ก็มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดขึ้น