บังคลาเทศ ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน 50% พิษเงินเฟ้อ ฝ่ายค้านชี้เหมือนเอาเกลือถูแผล

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 รอยเตอร์สรายงานเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า บังคลาเทศ ประกาศขึ้นราคาน้ำมันถึงราว 50% นับเป็นความเคลื่อนไหวที่จะลดภาระเงินอุดหนุนของประเทศ แต่เพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกิน 7% แล้ว

แม้บังคลาเทศจะมีเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 416 พันล้านดอลลาร์เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกมานานหลายปี อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้เพิ่มค่านำเข้า ส่งผลให้รัฐบาลต้องแสวงหาเงินกู้จากหน่วยงานระดับโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

โดยกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติแถลงว่า ราคาน้ำมันในบังคลาเทศเพิ่มสูงถึง 51.2% หรือราคา 130 ตากา (1.38 ดอลลาร์) ต่อลิตร น้ำมันเบนซิกออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 51.7% หรือราคา 135 ตากาต่อลิตร และน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดเพิ่มสูง 42.5%

กระทรวงพลังงานฯกล่าวอีกว่า การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากสภาวะตลาดโลก โดยสังเกตว่าบริษัท Bangladesh Petroleum Corporation ที่ดำเนินการโดยรัฐได้ขาดทุนกว่า 8 พันล้านตากา (85 ล้านดอลลาร์) จากการขายน้ำมันในช่วงหกเดือนถึงเดือนกรกฎาคม

“ราคาใหม่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับทุกคน แต่เราไม่มีทางเลือกอื่น ผู้คนต้องอดทน” นัสรูล ฮามิด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน พลังงาน และทรัพยากรแร่ของรัฐ กล่าวและว่า ราคาจะถูกปรับหากราคาโลกลดลง มันเป็นสิ่งจำเป็น แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่าการขึ้นเขาที่รุนแรงเช่นนี้ ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำตามเงื่อนไขขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟหรือไม่

ขณะที่ เมียร์ซา ฟุครุล อิสลาม อลัมเกียร์ เลขาธิการพรรคชาตินิยมบังคลาเทศ พรรคฝ่านค้านหลักของบังคลาเทศ ชี้ว่า การเคลื่อนไหวของรัฐบาลนี้เหมือนเอา “เกลือมาทาแผล” การขึ้นราคาแบบนี้จะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของบังกลาเทศอยู่เหนือ 6% เป็นเวลา 9 เดือนติดต่อกัน และแตะระดับ 7.48% ในเดือนกรกฎาคม กดดันให้ครอบครัวที่ยากจนกว่าต้องพบกับค่าใช้จ่ายประจำวันและเพิ่มความเสี่ยงของความไม่สงบทางสังคม ล่าสุดรัฐบาลได้ขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าด 23% ในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเกือบ 30%

ราคาน้ำมันโลกได้ผ่อนคลายจากระดับสูงสุดในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ และปิดในวันศุกร์ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์เชื้อเพลิง