90 ปี อภิวัฒน์สยาม : “ตามไท” ชี้งานศึกษา 2475 ขยายตัวมากขึ้น “ชาญวิทย์” มองการปฏิวัติคือผลของความเป็นสมัยใหม่

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เมื่อเวลา13.00 น. ณ ห้องริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักพิมพ์มติชน วารสารศิลปวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลมติชน มติชนสุดสัปดาห์
และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงาน 90 ปี 2475 อภิวัฒน์สยาม ในวาระครบครอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
โดยในช่วงเสวนา (อ่าน) 90 ปี คณะราษฎร อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในช่วงปาฐกถาเปิดงาน  ได้รับเชิญจาก ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และดร.ตามไท ดิลกวิทยวัฒน์

ตามไท กล่าวว่า การศึกษาเหตุการณ์ 2475 มีอะไรที่ยังรอการศึกษาต่อ ยังคงมีความเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าเรื่อยๆ การศึกษา 2475 แรกๆเริ่มกันในปี 2500 คนกลุ่มแรกที่สนใจคือ คนสนใจที่จบจากสหรัฐฯในด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นในปี 2500 เป็นยุคเผด็จการและเศรษฐกิจด้อยพัฒนา
นักวิชาการอยากรู้ว่าความด้อยพัฒนาเริ่มจากตรงไหน ความสมัยใหม่ก็มาจากปี 2475 คนส่วนใหญ่มองเหตุการณ์นี้เชิงลบ นั้นทำให้มีคนมองว่าทำไมถึงมอง ทำไมทำให้เศรษฐกิจไทยด้อยพัฒนา

แต่พอหลังปี 2520 การศึกษา 2475 เริ่มขยายตัวและมีความเปลี่ยนแปลง จากการทำงานทั้งนักวิชาการอย่างชาญวิทย์ ตัวอ.ชาญวิทย์คือส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ความรู้นี้ ตลอด 40 ปีมีงานด้านนี้มากขึ้น
โดยมี 3 ระยะ

ระยะแรกคือ การศึกษาปัญหาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราเน้นว่า คนก่อการคือใคร แต่เวลาต่อมามีการศึกษาแล้วว่า ก่อนเหตุการณ์ 2475 ระบอบเก่ามีปัญหาแล้ว แม้แต่คนในระบอบเก่ายังรู้สึกได้
เช่นงานศึกษาของนครินทร์ เบนจามิน ไชยันต์ รัชชกูล กุลลดา เกตุบุญชู

ระยะที่สอง ศึกษาคนที่เกี่ยวข้องกับอภิวัฒน์สยาม ก่อนหน้าเราสนใจสมาชิกคณะราษฎร แต่หลังๆศึกษาคนที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ เช่น ข้าราชการ ชาวนา กรรมกรรวมถึงงานศึกษาคนที่เรียกว่า ปฏิปักษ์อภิวัฒน์ทำให้ภาพเหตุการณ์ที่กว้างมากขึ้น มีความเห็นหลายแง่มุม

และระยะที่สามที่สำคัญและขยายตัวมาก เป็นงานที่ศึกษาผลกระทบ 2475 ไม่ใช่เหตุการณ์แต่หลังจากนั้น นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนก่อการมีภาพอนาคตที่สร้างอยากเห็น ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ความพยายามนี้มีอยู่จริง

ในช่วงคณะราษฎรอยู่ พวกเขาพยายามทำอะไร มีนโยบายอะไรที่จะทำบ้าง เป็นคุณูปการมากที่ปัจจุบันพยายามทำ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงความรับรู้ในคนรุ่นใหม่มากขึ้น สำนึกประวัติศาสตร์แบบใหม่มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต และงานศึกษาแนวนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ งานศึกษาหลายที่ พบว่ามีการศึกษาผลพวงของการก่อการของคณะราษฎรมากขึ้น ซึ่งน่าสนใจมากว่า หลัง 2475 ก่อความเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้าง

จากนั้น ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า 23 มิถุนายนวันนี้ พรุ่งนี้ เป็นวันยลมหาศรีสวัสดิ์ เป็นเพลงที่ผมโตขึ้นมาในช่วงปลายรัฐบาล จอมพล ป. เมื่อผมรู้ความและเรื่องราวบางอย่างในประวัติศาสตร์ ผมร้องเพลงนั้นเป็นอย่างดี แต่เอาเข้าจริง เรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 จะใช้คำว่า การอภิวัฒน์ รัฐประหาร ก็ยังได้ เป็นหนึ่งในบรรดารัฐประหารทั้งหลาย แต่ผมสมัคใจเรียกว่าเป็นปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475
ผมมาวันนี้ นึกถึงนักพูดคนหนึ่ง เขาหยิบหนังสือกองใหญ่และเอามาวางให้ทุกคนเห็น ผมหยิบมาหลายเล่มนะครับ

มีเล่มที่ผมภูมิใจมาก ที่ตั้งชื่อหลอกว่า จาก 14 ถึง 6 ตุลา นั้นคือ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ประวัติศาสตร์พิสดารของสยามสมัยใหม่

ผมมีอีกเล่มที่มาอวด เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ เล่มสุดท้ายในชีวิตแล้ว ผมอายุ 80 ปีแล้ว ผมเป็นคนรุ่น Builder ก่อนเบบี้บูม พวกเขาเป็นลูกศิษย์ผม ผมสอนที่ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2486 มีลูกศิษย์ทั้งดีและชั่ว
คุณจะโทษใครก็ได้ในประวัติศาสตร์ แต่พวกเขาถูกบังคับให้เรียนอารยธรรมไทยกับผม ที่สอนว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ผมเขียนเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษจะพยายามแปลไทย แต่ไม่รู้ว่าแปลแล้วจะอยู่รอดไหม

ในส่วนตัวของผมแล้ว ผมเรียนรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่น 12 แล้วเปลี่ยนเป็นประวัติศาสตร์ตอนปริญญาเอก แม้ผมได้เกียรตินิยมของรัฐศาสตร์ก็ตาม ผมอยู่ในกะลานะครับ

ผมได้ถามอ.ณัฐพล ผมถามว่า อาจารย์ตาสว่างเมื่อไหร่ เขาตอบ ตอนเรียน ป.โท ผมเรียนปริญญาโทที่ สหรัฐฯ ผมก็ยังตาไม่สว่าง แต่พอเรียนป.เอกประวัติศาสตร์ ผมตาสว่าง เราไม่รู้เรื่องจริงๆ
ประวัติศาสตร์ไทยที่เราเรียน ไม่น่าเป็นประวัติศาสตร์แต่เป็นลัทธิทางการเมืองมากกว่า ผมเลยเริ่มอ่านหนังสือในห้องสมุด อย่างที่ทราบกันดี ก่อนเป็นห้องสมุดดีๆใช่้เวลานานมาก

สมัยผมก็ยากเย็น อยู่ธรรมศาสตร์ในสมัยที่มีจอมพลถนอมเป็นอธิการบดี ขณะที่จุฬาฯมี จอมพลประภาสเป็นอธิการบดี ประหลาดมหัศจรรย์มาก ผมใช้เวลานานมากจนเรียนจบปริญญาเอกจนรู้ว่าไทยถูกครอบงำด้วยอคติ เป็นจุดเปลี่ยนของผม ผมอาจโม้ได้ว่า เมื่อท่านปรีดี ย้ายจากจีนในปี 2513 ผมบังเอิญอยู่ปารีสพอดี ผมมีเพื่อนที่โน่นเยอะ มีหอแองแตร์ ที่รวมของนักศึกษาจากหลายประเทศ เราก็คบหาสมาคม คุยการเมืองกัน เริ่มรู้จักท่านปรีดีเขียน

การพบปะของสมาชิกคณะราษฎรที่ ลูซง เดอ มารา ท่านปรีดีย้ายอยู่ปารีสก็ได้พบท่านครั้งแรกในชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข เลี้ยงข้าวด้วยข้าวคลุกกะปิ ผมจดจำจนถึงวันนี้ ทำให้ผมสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิวัติ 2475 ที่ผมเขียนค่อนข้างละเอียด ผมขอกล่าวว่า ในบทแรกๆของหนังสือของผม ผมใช้เวลาเขียนหลายปี เอาเข้าจริงคือเขียนไม่จบ ผมตั้งใจให้ผมจบประมาณตุลาๆ แล้วอยู่มาที่ 6 ตุลา พอดี ผมอยู่กับอ.ป๋วย จนลี้ภัยกัน

 

ผมเขียนว่า “ถ้าต้องการรู้เรื่องราว 2475 ของสยาม ท่านต้องศึกษาเรื่องราวในวันศุกร์ที่ 24 ถึงวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2475” จบลงที่มีรัฐธรรมนูญ การตั้งรัฐสภา มีการเปิดประชุมสภา 5 วันจบ ขอเวลาเพียง 5 วัน ไม่ได้ขอนาน 8 ปีนะครับ 5 วันนี้สำคัญมาก

ประเด็นต่อมา เราต้องทำความเข้าใจ 90 ปีที่แล้วคือ เรื่องราวของคณะราษฎรและคณะเจ้า การมีคณะราษฎรตามนัยยะ ก็ต้องมีคณะเจ้า การมีสยามใหม่ของรัชกาลที่ 5 ก็ต้องมีสยามเก่าของขุนนางเก่านำโดยตระกูลบุนนาค เราต้องศึกษาขบวนการที่ปารีส เห็น 2 ด้านของ 2475 คุณจะมองหาวีรบุรุษหรือแพะ แต่พระยาพหลฯ จะด้วยอะไรไม่ทราบ ท่านหลุดข้อหาล้มเจ้า ไม่เป็นแพะ แต่ทั้งจอมพล ป.และปรีดีถูกทำให้เป็นแพะ

ยายผมเป็นครู อยู่ตลอดสงครามโลก กินหมากไม่หยุด ไม่ได้ตัดผมแบบสมัยใหม่ ทำไมยายไม่โดนจอมพลป.บังคับให้เปลี่ยน ทั้งที่อยู่ปากน้ำนั่งรถไฟแป๊บเดียวถึงหัวลำโพง ผมเลยรู้สึกว่า เรื่องราวที่เคยได้ยินเกี่ยวกับจอมพล ป.เป็นการกุหาให้เป็นแพะ เช่นเดียวกับปรีดีหรือไม่ คือเรื่องกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เรื่องราว 2475 มีทั้งบวกและลบ เป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจสร้าง “วาทะ” และเรารับ “กรรม”

เราต้องดูภูมิศาสตร์สังคม ชนชั้นนำ อุดมการณ์ชาตินิยมและประชาธิปไตย เราจะเข้าใจวันนี้ เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์พิสดาร เราต้องย้อนดูกลับไปว่าก่อนหน้าเหตุการณ์ 2475 มีเหตุก่อการ รศ.131 ของคณะหมอเหล็ง หรือย้อนไปอีกเท่าไหร่ วันนี้เราย้อนกลับไป 90 ปี หรือย้อนไป 60 ปี 150 ปี เราจะกลับไปยัง รศ.130 หรือคำกราบบังคมทูลรศ.103 ที่ขุนนางเชื้อพระวงศ์อยากให้มีรัฐสภา แบบเดียวกับปฏิรูปเมจิ เกิดพร้อมกับปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 แต่สยามหาได้ปฏิรูปอยากจริงจังไม่

จุดสำคัญคือ หมอบลัดเรย์ เรารู้จักกันในแง่การแพทย์สมัยใหม่ หมอบลัดเรย์มีบทบาทสำคัญผ่านมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ ในแง่ยา วัคซีนกันไข้ทรพิษ โรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลสมัยใหม่ในการรักษา หมอบลัดเรย์ เป็นทั้งแพทย์ ครูสอนศาสนาและนักหนังสือพิมพ์ ผมภูมิใจ อ.ขรรค์ชัย เอารูปหล่อหมอบลัดเรย์มาตั้งไว้ หมอบลัดเรย์ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ ภาษาไทยฉบับแรก แปลรัฐธรรมนูญอเมริกา สมาชิกร้อยกว่าคนของหนังสือพิมพ์ บางคนจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง คนอ่านนี่มีพระจอมเกล้า
มีพระปิ่นเกล้า มีเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ มีคณบดีอยู่ต่างจังหวัด ดูรายชื่อแล้ว สยามประเทศไม่ได้เชยนะ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนสู่สมัยใหม่สยามประเทศรับรู้แล้ว แล้วทำไมเราถึงช้า

ถ้าเรามองกลับไป เอาเข้าจริง ปฏิวัติ 2475 ไม่ได้ชิงสุกก่อนห่ามหรอก แต่มาพร้อมกระแสสมัยใหม่ทั่วโลก ถ้าดูประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่ปรีดีเขียนไว้ เขียนว่าไทยเป็นประเทศสุดท้ายที่ยังไม่ได้ปฏิวัติประชาธิปไตย สหรัฐฯในยุควอชิงตัน จริงๆเขาตั้งราชวงศ์ได้นะแต่เขาไม่เอา จากสหรัฐฯไปสู่ฝรั่งเศส ตรงกับยุครัชกาลที่ 1 เอาเข้าจริง มี 1776 มี 1789 มี 1911 ปฏิวัติซิงไห่ ซึ่งตรงกับรศ.130 ของคณะก่อการหมอเหล็ง เราชิงสุกก่อนห่ามจริงหรือ ทั้งที่ไทยและนอกประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

มีบทหนึ่งสั้นๆที่ผมกำลังแปล รัชกาลที่ 7 กับปัญหาประชาธิปไตยและความไม่พร้อมของสยาม ใครไม่พร้อมกัน ลองศึกษาดู รวมถึงในที่สุดหนีไม่พ้นว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ถ้าไม่มีทหารกลุ่มหนึ่งก่อการ การอภิวัฒน์สยามของไม่สำเร็จ คณะทหารนำโดย พระยาพหลฯ คนกลุ่มนี้ อ.ณวัฒน์ผู้ล่วงลับเขียนเรื่อง 2475 ระบุว่า คณะทหารพระยาพหลฯเป็นพี่ใหญ่ ส่วนจอมพล ป.เป็นรุ่นน้อง

มีคนเคยเสนอให้ตั้งชื่อถนนสายใต้ว่า พิบูลสงคราม แต่จอมพลป. ปฏิเสธ เลยเป็นชื่อ ถนนเพชรเกษม

ผมขอจบว่า ถ้าเราจะเข้าใจ 24 มิถุนายน 2475 เข้าใจ 90 ปี มีความเห็นหลายด้านมาก เราต้องศึกษาในแง่ประวัติศาสตร์ระยะยาว เราถึงจะรู้ว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีกระบวนการใหญ่โตมาก

ต้องดูระยะยาวและเปรียบเทียบ ไม่รู้จะเปรียบกับใคร เปรียบไทยกับพม่าก็ได้ว่าใครถึงประชาธิปไตยก่อนกัน