เพื่อไทย แถลงจี้รัฐบาลยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ซัดใช้งานผิดวัตถุประสงค์ กลับใช้ปิดกั้นเสรีภาพปชช.

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาแถลงการณ์ในนามพรรค กดดันให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลขยายเวลาหลายครั้งโดยอ้างเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับถูกใช้เพื่อใช้อำนาจในการสกัดกั้นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ โดยพรรคระบุว่า

ตามที่นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ และได้ขยายระยะเวลา การใช้บังคับประกาศตามสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวม ๑๘ ครั้ง โดยครั้งล่าสุด ขยายไปตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยเหตุผลในการประกาศ สถานฉุกเฉินนั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ เป็นหลัก

แต่กลับปรากฏว่าในการ ออกข้อกําหนดตามความในมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อห้ามที่ครอบคลุมถึงการห้ามชุมนุมทางการเมืองด้วย โดยระบุว่า “ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด” ต่อมาเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ คลี่คลายและได้มีการผ่อนคลายมาตรการตามข้อห้าม       ดังกล่าวลง แต่สำหรับข้อห้ามในการชุมนุมทางการเมืองนั้นยังคงไว้อยู่เช่นเดิม จึงทำให้ในช่วง      ที่ผ่านมาได้มีเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนประกาศ  และข้อกำหนดจำนวนมาก

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ๑๙ ได้ทุเลา เบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด จนรัฐบาลได้เตรียมประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคประจำถิ่น และยังได้ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงเป็นลำดับ เช่น การเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศโดยไม่ต้อง ตรวจคัดกรองเพียงแต่ให้แสดงหลักฐานการได้รับวัคซีน การเปิดโรงเรียนทั่วประเทศ การเปิดให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงการเปิดสถานบันเทิง เป็นต้น กรณีย่อมถือว่า สถานการณ์ฉุกเฉินได้สิ้นสุดลงแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงต้องประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินทันที ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ดังนั้น การยังคงข้อห้ามในการชุมนุมทางการเมืองไว้ นอกจากไม่เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังเป็นเหตุผลทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี เองที่ไม่ต้องการให้มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งถือเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทาง การเมืองจํากัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และนอกจากการยกเลิกประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินแล้ว ควรที่จะมีมาตรการในการยุติการดำเนินคดีกับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะการฝ่าฝืนข้อกําหนดในมาตรา ๙ ด้วย เพราะทุกคน ที่ออกมาชุมนุมล้วนไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อประเทศ

แต่ส่วนใหญ่เพราะต้องการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะต้องถูกดำเนินคดี เพราะเหตุดังกล่าว เมื่อมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลยังมี พ.ร.บ.ควบคุมโรคที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังเป็นการสร้างความมั่นใจ และสร้างบรรยากาศของการท่องเที่ยวและการลงทุนอีกด้วย

ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทันที