EIC ปรับคาดการณ์จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นแตะ 2.9% อานิสงส์ท่องเที่ยว-บริการ-เกษตร

EIC ปรับคาดการณ์จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นแตะ 2.9% อานิสงส์ท่องเที่ยว-บริการ-เกษตร

 

วันที่ 14 มิถุนายน 2565 นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวในงานแถลงข่าวเรื่อง มุมมองเศรษฐกิจไทย ประจำไตรมาส 2 ปี 2565 ว่า EIC ได้ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดิมคาดการณ์ 2.7% มาจากการฟื้นตัวการท่องเที่ยว ภาคบริการ อีกทั้งภาคเกษตรได้อานิสงส์จากอาหารโลกปรับเพิ่มสูง เพิ่มแรงส่งอุปสงค์ในประเทศ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงถึง 5.9% เฉลี่ยทั้งปีนี้ เป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี สร้างภาระต่อประชาชนด้านค่าครองชีพสูงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จึงทำให้คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ในไตรมาส 3/2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย โดยประเมินแรงขับเคลื่อนระยะต่อไปจะมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการแทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออก

ทั้งนี้ คาดการณ์ด้านเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่าในระยะสั้นจากแนวโน้มการตึงตัวของนโยบายการเงินในเศรษฐกิจหลัก อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 33.5-34.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นายสมประวิณกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1.ราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ที่ยังผันผวนระดับสูงยาวจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงเป็นเวลานานและเร่งคาดการณ์เงินเฟ้อ 2.การล็อกดาวน์จีนและมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเชีย โดยชาติตะวันตกอาจเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการชะงักงันของอุปทานภาคการผลิตและขนส่ง 3.การแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานเป็นสองขั้วเศรษฐกิจจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะลดประสิทธิภาพและเพิ่มต้นทุนด้านการค้า และการลงทุนโลก 4.ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถูกช้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง และ 5.มาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐที่ทยอยลดลงทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพโดยเฉพาะด้านพลังงาน

นอกจากนี้ ด้านปัจจัยบวกที่จะช่วยให้เกิดแรงขับเคลื่อนประกอบด้วย 1.ภาคการท่องเที่ยวและบริการจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2565 จากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค 2.รายได้ภาคเกษตรที่ฟื้นตัวทั้งในด้านผลผลิตและราคาเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน และ 3.การใช้จ่ายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยเฉพาะจากอุปสงค์คงค้างของกลุ่มผู้มีรายได้สูง