‘โรม’ จี้ ‘กองทัพ’ ประกาศจุดยืนทำตาม กม.ยุติอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ดีกว่าเสียเวลารบกับ “ลาซาด้า”

‘โรม’ ชี้ กองทัพควรประกาศจุดยืนพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ทั้งในปัจจุบันแต่ต่อกรณีในอดีต เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายหลังศาลสั่งไม่ทราบสาเหตุการตาย ‘ในค่ายทหาร’ ของ ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ เพราะเข้าไปไม่ถึงหลักฐาน ย้ำ สันติภาพชายแดนใต้จะเกิดขึ้นได้ กองทัพและความยุติธรรมคือกลไกสำคัญ

 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่ ศาลจังหวัดสงขลา อ่านคำพิพากษา วันที่ 9 พ.ค. 65 กรณีไต่สวนการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยสรุปว่าตายเพราะสมองบวม ขาดออกซิเจน และหัวใจหยุดเต้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการที่นำไปสู่การตาย เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่ไปไม่ถึงจุดที่จะให้สรุปได้ว่าเป็นการถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่
.
รังสิมันต์ กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลจากทนายความผู้แทนของครอบครัวอีซอมูซอ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้มีหลักฐานในคดีออกมาเพียงเท่านี้ เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ ฝ่ายเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษสามารถดำเนินการได้หลายอย่าง เมื่อฝ่ายผู้เสียหายเสียชีวิตในระหว่างการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องเป็นผู้พิสูจน์จนกว่าจะสิ้นสงสัย ทำให้เป็นภาระผู้เสียหาย จึงแทบเข้าไม่ถึงหลักฐานต่างๆได้เลย แม้แต่ข้อมูลว่ามีใครบ้างเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังไม่สามารถทราบได้
.
“ซึ่งใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับที่ผ่านการปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯ ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ วาระ 3 เมื่อเดือน ก.พ. 65 ที่ผ่านมา มีการเพิ่มเติมกลไกต่างๆ ที่จะตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นในค่ายทหาร แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้เพิ่งจะผ่านสภา แต่ก็อยากให้กองทัพนำแนวปฏิบัติของกฎหมายมาใช้ทันที โดยใช้ย้อนหลังกับคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในค่ายของกองทัพด้วย เพื่อยืนยันว่า จากนี้ไปพวกท่านจะเป็นกองทัพที่ปกป้องและไม่ละเมิดประชาชนเสียเอง”
.
ทั้งนี้ รังสิมันต์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีหลายส่วนที่จะคุ้มครองประชาชนได้มากขึ้น เช่น หมวดที่ 2 ว่าด้วยการมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย อำนาจหน้าที่ด้านหนึ่งคือ ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมทั้งรับและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน และตรวจสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวหรือเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวโดยพลันเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิด
.
หรือ หมวดที่ 3 ว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดให้ในการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอในท้องที่ที่มีการควบคุมตัวโดยทันที ส่วนในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตาย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบแจ้งคณะกรรมการฯ ทราบ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมานในระหว่างควบคุมตัวโดยพลัน และเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว ญาติ ผู้แทนหรือทนายความ หรือคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการฯ มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ เช่น ชื่อ นามสกุล หรือตำหนิรูปพรรณของผู้ถูกควบคุมตัว วัน เวลาและสถานที่ของการถูกควบคุมตัว รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการควบคุมตัว คำสั่งที่ให้มีการควบคุมตัว เหตุแห่งการออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกคำสั่ง ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งก่อนถูกควบคุมตัวและก่อนการปล่อยตัว และในกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตายระหว่างการควบคุมตัว จะต้องระบุถึงสาเหตุแห่งการตายและสถานที่เก็บศพด้วย
.
รังสิมันต์ กล่าวว่า ยังมีข้อกำหนดอีกหลายประการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะช่วยเพิ่มการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในหน่วยงานต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจเป็นที่ลึกลับอย่าง หน่วยงานทหาร ให้มีความโปร่งใส ลดความเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานหรือกระทำมิชอบอื่นๆ ได้
.

“ผมเห็นช่วงนี้กองทัพขยันออกมาประกาศจุดยืนกันทุกเหล่าทัพ จึงอยากให้กองทัพช่วยประกาศจุดยืนอีกสักเรื่องว่า จะสนับสนุนและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ยุติการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ฉบับนี้ รวมถึงเปิดให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีอุ้มหายในอดีตที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝีมือทหาร ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เปิดให้ดำเนินการได้ด้วย ทั้งนี้ไม่ถือเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเนื่องจากไม่มีการพิจารณาคดีและพิพากษาโทษ เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ ผมเชื่อมั่นหากท่านทำจะส่งผลดีในหลายด้าน ไม่ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ และผมเชื่อจริงๆโดยบริสุทธิ์ใจว่า จุดยืนในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยมากกว่าการประกาศแบนลาซาด้าอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการจัดการความขัดแย้งที่ชายแดนใต้นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กระบวนการยุติธรรมและบทบาทของกองทัพ คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่”