‘ชาญวิทย์’ งง หนังสือยาก-เนื้อหาหนักขายดี! ชี้สัญญาณปฏิวัติวัฒนกรรมการอ่าน

‘ชาญวิทย์’ งง หนังสือยาก-เนื้อหาหนักขายดี! ชี้สัญญาณปฏิวัติวัฒนกรรมการอ่าน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่สถานีกลางบางซื่อ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บูธ A16 ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ชั้น 1 (G floor) ใกล้ทางเชื่อมต่อ MRT

โดยเวลา 18.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ แวะเวียนมาที่บูธมติชน โดยสนใจหนังสือ Thai Culture and Behaviour วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย ซึ่งล่าสุด คว้ารางวัลหน้าปกสวย Very Thai (เวรี่ไทย) ผู้ ออกแบบโดย นางสาวณัฐชญาภรณ์ บุญมี

จากนั้น ศ.ดร.ชาญวิทย์ ได้พบปะพูดคุยกับ ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนถ่ายภาพร่วมกันภายใน Photo booth

 

ศ.ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้คนเขียนเป็นนักมานุษยวิทยา ที่ดังมากๆ ดังที่สุดคนหนึ่งในโลกด้วยซ้ำ เธอเป็นคนเก่ง และสวย รูธ เบเนดิกต์ (Ruth Benedict) โดยส่วนมากคนจะรู้จักเธอเนื่องจากเขียนหนังสือวิเคราะห์ญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือชื่อว่า “ดอกเบญจมาศกับดาว” เป็นเรื่องที่พูดถึงว่า คนญี่ปุ่นเป็นอย่างไร ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ ทั้ง เข้มแข็ง ดุดัน ในขณะเดียวกันก็มีอีกด้านของความอ่อนหวานอ่อนโยน ความงดงาม เป็นคาแรคเตอร์ 2 แบบที่ซ้อนกันอยู่ โดยบังเอิญ เธอก็เขียนเรื่องเมืองไทยด้วยคือ เล่มนี้ที่ชื่อว่า Thai Culture and Behaviour วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย

“สมัยตอนที่ผมไปเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งมีโปรแกรมที่เรียกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา อุษาคเนย์ ซึ่งเขาก็เอามาพิมพ์ให้นักศึกษาอ่านกัน ผมก็เลยเอาติดตัวกลับมาบ้านด้วย มีอาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้แปล ได้แปลออกมา เมื่อพิมพ์ครั้งแรก คนก็ซื้อหมด เข้าใจว่า คนพิมพ์น่าจะเป็นคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กับ คุณขรรค์ชัย บุนปาน ที่เอามาพิมพ์เมื่อนานมาแล้ว สมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 แล้วหนังสือเล่มนี้ก็เงียบหายไป

แต่ในที่สุดวันหนึ่งผมไปกินข้าวกับคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว คุณสุพจน์บอกว่า ทำไมอาจารย์ไม่เอาหนังสือเล่มนี้มาพิมพ์อีก ตอนนั้นผมก็บอกว่า จะไปพิมพ์ทำไม เพียงแต่สนใจอ่านเพื่อให้รู้ว่ารูธ เบเนดิกต์เขามาเมืองไทยอย่างไร เขาดังจากเรื่องญี่ปุ่นแต่เขามองเมืองไทยอย่างไร เป็นที่มาของการเอามาตีพิมพ์ซ้ำครั้งนี้” ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว

ศ.ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า ตนว่า รูธ ไม่เคยมาเมืองไทย รุ่นนั้นคือสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 กว่า 80 ปีมาแล้ว

“เธอไม่ได้มาลงสนามเมืองไทยหรอก แต่อ่านจากเอกสารที่รวบรวมได้ ซึ่งชาวต่างประเทศเขียนเอาไว้ ตั้งแต่ เดอะ ลาลูแบร์ ในสมัยพระนารายณ์ มาจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4-6 ที่ฝรั่งเขียนเกี่ยวกับเมืองไทยเอาไว้เยอะ ซึ่งเธอรวบรวมจากตรงนั้นว่าคนไทยเป็นอย่างไร เป็นคนที่ชอบสนุก รักสบาย ประเภทที่เรารู้จักกัน คือไม่เคร่งครัดต่ออะไรทั้งหลาย นี่คือที่มาของการมองคนไทยในแบบเก่าแก่ แน่นอนว่าปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ แต่ว่ามันเป็นการเริ่มต้นศึกษา แบบมานุษยวิทยาในเมืองไทย เป็นต้นแบบ”

เมื่อถามว่า การที่เรารู้ว่าชาวต่างชาติมองคนไทยแบบไหน สำคัญอย่างไร ?

ศ.ดร.ชาญวิทย์ ระบุว่า สำคัญมากๆ เพราะบางทีคนเรามองตัวเองไม่ออก ต้องให้คนอื่นมอง ถ้าเรามองตัวเองเราก็เข้าข้างตัวเองว่าเราก็เก่ง ก็ดี แต่เราอาจจะมีข้อบกพร่องเยอะแยะ นี่คือจุดดีของหนังสือเล่มนี้

01:22
/
02:00

“ผมมาเยี่ยมเยียนที่บูธมติชน ในแง่ของการทำงานหนังสือ วิชาการ เรียกว่าผมกับทางคุณขรรค์ชัย คุณสุจิตต์ คบหากันมาครึ่งศตวรรษแล้ว ดีใจที่มติชนประสบความสำเร็จมากทีเดียว

วันนี้คนมาเยอะจนผมตกใจ ผมมาเป็นวันแรกเนื่องจากต้องมาพูดเรื่องหนังสือ ‘กบฏเงี้ยวเมืองแพร่’ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พูดเสร็จก็เลยมาเดินดูงาน ผมคิดว่ามันเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ทำไมคนเยอะ ทำไมหนังสือขายดี หนังสือที่เนื้อหาหนักๆ แต่ทำไมคนซื้อ อย่างผมทำงานมูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ ที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก่อตั้งเอาไว้ และเราก็มี MOU กับทางมติชน ร่วมงานกัน ซึ่งเนื้อหาอาจจะหนัก น่าเบื่อ เล่มหนา ทั้งชุดเกี่ยวกับอาเซียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ แต่ก่อนก็ขายไม่ค่อยได้ แต่เดี๋ยวนี้ขายออกได้เยอะแยะ ขายได้อย่างไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งขายออนไลน์ ซึ่งผมแปลกใจมาก มาวันนี้ยิ่งแปลกใจใหญ่ นี่เป็นสัญญาณที่ดีมากๆ

ที่บอกว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ ไม่จริงหรอกถ้าดูจากวันนี้ เดี๋ยวก็มีงานอีก ยินดีด้วยกับสำนักพิมพ์มติชน”
ศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว และว่า

“เดี๋ยวผมจะไปเขียนว่า มันต้องเกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือกัน โอ้โห อึ้งไปเลย”