หมออ๋อง หดหู่ จรรยาบรรณสัตวแพทย์ เหตุ ‘กรมปศุสัตว์’ ปกปิด ASF ทำหมูแพง

หมออ๋อง ก้าวไกล หดหู่จรรยาบรรณ ‘สัตวแพทย์’ กรมปศุสัตว์ ปกปิก ASF ทำ ‘หมูแพง’ ซ้ำเติมปากท้องประชาชน กังขา เจตนา ‘เอื้อทุนใหญ่’ ปล่อยเกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์

วันที่ 10 มกราคม 2565 ปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อสถานการณ์หมูแพงในขณะนี้ว่า ในฐานะอดีตสัตวแพทย์ที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมสัตว์มาก่อน ตนทราบดีถึงปัญหาในแวดวงสัตวแพทย์และปศุสัตว์ แต่ไม่เคยรู้สึกหดหู่ใจกับการปกปิดความจริงการระบาดของเชื้ออหิวาต์หมูอาฟริกา หรือ Afican Swine Fever : ASF ของกรมปศุสัตว์ขนาดนี้ เพราะความไม่ยึดมั่นในจรรยาบรรณของสัตวแพทย์ได้สร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนมหาศาล

ไม่ว่าจะเป็นปากท้องของพี่น้องประชาชน ที่เศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว หลายคนรายได้ลดลงมากจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับต้องมาเจอรายจ่ายที่สูงขึ้นจากค่าครองชีพ ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหารเองก็ต้องแบกรับต้นทุน มีจำนวนมากที่ไม่ไหวก็ต้องขอปรับขึ้นราคาทำให้การค้าขายยากไปอีก

“บางคนอาจบอกว่า หมูแพง พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูได้กำไร ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย ทุกเช้าที่ผมไปเดินสำรวจตลาดสดในจังหวัดพิษณุโลก แผงหมูหลายแห่งหยุดขายแล้วเพราะทนสภาวะขาดทุนไม่ไหวหรือหาหมูมาขายไม่ได้ หมูที่หาได้มีแต่หมูเจ้าสัวที่คุณภาพแย่คนไม่ซื้อ ส่วนหมูฟาร์มที่ยังรอดราคาสูงมากตั้งแต่หน้าฟาร์ม ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้ามีต้นทุนสูง แค่ขายตามต้นทุนยังขายออกยาก เพราะคนเลี่ยงไปซื้ออย่างอื่น แต่ถ้ายอมแบกราคาไว้เองก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

“บางคนกลั้นใจลองไปซื้อหมูเป็นจากเจ้าสัวมาขายก็จริงเหมือนที่เผยแพร่กันในโซเชี่ยลว่า ราคาไม่เป็นมิตร บาทเดียวก็ไม่ลด แต่แม่ค้าไม่ได้เห็นหมูก่อนเลย พอได้รับมาก็เป็นหมูมีแต่มันขายไม่ออก ส่วนหมูคุณภาพดีเขาส่งเข้าห้างตัวเองหมด ส่วนฝั่งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไม่ต้องพูดถึง ต้นทุนแพงมาตั้งแต่ค่าอาหารสัตว์ แต่พอหมูตายตัวหนึ่งแล้วปศุสัตว์บอกว่า ไม่ใช่ ASF แต่เป็น PRRS จะทำลายหมูทั้งหมดก็กลัวไม่ได้ชดเชย ต้องรีบเอาหมูเป็นชำแหละขายราคาถูกๆ น้ำตาตกในยอมขาดทุนดีกว่าหมูตายยกฟาร์มโดยไม่ได้เงินเลย พอไม่ได้ควบคุมทำลาย เชื้อก็กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้มีหมูตายและหายจากระบบไปกว่า 5- 6 ล้านตัวต่อปี

ตัวเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเองก็ท้อใจ หากรัฐยังไม่ยอมรับว่ามี ASF ระบาดในประเทศ ต่อให้มีเงินกู้สนับสนุนให้กลับมาเลี้ยงดังที่กระทรวงเกษตรฯประกาศ เขาก็ไม่กลับมาเลี้ยงเพราะเหมือนหลอกให้เจ๊งรอบ 2 เลี้ยงไปก็ตาย แต่ไม่มีคนรับผิดชอบทั้งยังเป็นหนี้ต้องแบกเพิ่ม ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจาก 2 แสนราย จึงลดลงเหลืออยู่เพียงเพียง 8 หมื่นราย ปัญหานี้จะไม่มีทางแก้ได้เลย ถ้าไม่เริ่มจากการที่ภาครัฐยอมรับความจริง”

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ถ้ารัฐบาลยืนยันว่า ไม่มี ASF ระบาด แต่ทำไมจึงมีมติ ครม.อนุมัติให้ใช้งบกลางเพื่อให้ทำลายสุกรและจ่ายเงินชดเชย แต่กลับไม่มีเอกสารชี้ชัดว่าเป็นโรคอะไร ส่วนการรายงานว่าเป็นโรค PRRS ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องถึงกับทำลายสุกรทั้งฟาร์ม ตนติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเคยสะท้อนปัญหานี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีการแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินที่ระบาดในวัว ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.64 เพราะหัวใจที่แท้จริงของปัญหานี้ คือความบกพร่องในการควบคุมกักกันสัตว์ทั้งระบบ ซึ่งข้อสังเกตและข้อเสนอต่างๆจากสภาผู้แทนราษฎรในวันนั้นจะต้องทำรายงานส่งไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา

ดังนั้น จะโกหกปิดหูปิดตาประชาชนอ้างว่าไม่รู้มาก่อนไม่ได้ และสถานการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว 2-3 ปี ตั้งแต่เริ่มพบการตายไม่ปกติของหมูในจังหวัดชายแดน ซึ่งเพื่อนบ้านพบการระบาดของ ASF ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยที่เราเองกำลังเจอปัญหาโรคอุบัติบัติใหม่ในสัตว์จากม้า ตามมาด้วยวัว ต่อมาคือหมู ซึ่งเป็นเชื้อในอาฟริกาทั้งสิ้น ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรการการนำเข้า กักกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ของประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์ ยังมีความรูโหว่มากจนทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นฮับของเชื้อระบาดในสัตว์จากอาฟริกาหรือไม่

“ความน่ากังขาในการทำหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ตลอด 2-3 ปีมานี้ สร้างความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์ในประเทศไทย และกำลังส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครั้งใหญ่ที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยสูญพันธุ์และเหมือนมีความตั้งใจให้เกิดขึ้นเพื่อเอื้อให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ โดยทุนใหญ่เสียหายน้อย ได้ประโยชน์มาก

“การปกปิดการระบาดของ ASF ในหมู ทำให้ฟาร์มหรือเกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงหมู และต้องขายหมูที่รอดออกไปด้วยราคาขาดทุน แต่ทุนใหญ่ไม่เจอปัญหานี้เพราะมีตู้แช่แข็ง สามารถชำแหละหมูแช่เอาไว้เพื่อปล่อยสู่ตลาด เป็นเจ้าหลักเจ้าเดียวในวันที่ไม่มีหมูเจ้าอื่นในตลาดได้ ได้ประโยชน์ทั้งราคาและไม่มีคู่แข่ง อีกทั้งการไม่มีรายงานการติดเชื้อ ASF ในไทยอย่างเป็นทางการตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้ยังส่งออกหมูได้โดยไม่มีผลกระทบ เรื่องนี้เกษตรกรรู้ โรงเชือดรู้ และสัตวแพทย์ก็รู้ ภาคีคณบดีสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน จึงต้องทำหนังสือถึง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 64 เพื่อแสดงห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรค

โดยในหนังสือยืนยันการพบ เชื้อ ASF ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และระบุว่าได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งขอให้กรมปศุสัตว์ควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมีให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ขนาดนี้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลยังยืนกรานว่า ไม่พบ ASF แบบนี้ จึงไม่รู้ว่าทำไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้ใครกันแน่ แต่เท่าที่รู้ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแน่นอน” ปดิพัทธ์ ระบุ