สภาถล่มเละ ป.ป.ช. ไม่เคยชี้รัฐผิด ฝั่งตรงข้ามโดนอื้อ ‘วิโรจน์’ ลั่นย่อมาจากปกป้องคนชั่ว

สภาถล่มเละ ป.ป.ช. ไม่เคยชี้รัฐผิด ฝั่งตรงข้ามโดนอื้อ ‘วิโรจน์’ ลั่นย่อมาจากปกป้องคนชั่ว ด้าน ‘โรม’ เปรียบรายงานป.ป.ช.เหมือนขยะ ทำช้าเหมือนลาอายุมาก

วันที่ 2 ธ.ค. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณารับทราบรายงานผลการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

นายณัฏฐ์ชนน ครีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช. จำนวนมาก ประมาณ 9,000 กว่าเรื่อง และคิดว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจะมากขึ้นในอนาคต จำนวนคดีที่มากขึ้นนี้ไม่ใช้ตัวชี้วัดการทำงาน แต่การทำให้ประชาชนเข้าใจใน พ.ร.บ. ป.ป.ช. จนมีเรื่องร้องเรียนน้อยลงต่างหากที่เป็นเป้าหมายของป.ป.ช.

นายณัฏฐ์ชนน กล่าวต่อว่า 1.ตนเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการคัดกรอง และแยกประเภทก่อนเสนอให้ ป.ป.ช. ส่งต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวน เพื่อป้องกันการร้องที่กลั่นแกล้ง และคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่ใช้องค์กรของท่านเป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้และคู่แข่งทางการเมือง 2.เสนอให้ป.ป.ช. เชิดชูหน่วยงาน องค์กรที่มีหลักธรรมาภิบาล

3.ให้ป.ป.ช.เผยแพร่ความรู้ และกฎหมายให้ประชาชน และ 4.ป.ป.ช.ต้องพิจารณาลงโทษบุคคลที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงกลั่นแกล้ง หวังผลทางการเมือง ทำลายคู่ต่อสู้ โดยถ้าพิสูจน์ได้ว่าถ้าเขากลั่นแกล้งต้องมาแก้กฎหมายเพื่อเอาผิดคนที่กลั่นแแกล้งผู้อื่น ทั้งนี้ ตนในฐานะส.ส.ที่ตั้งใจทำงานให้ประชาชนโดยสุจริต ไม่อยากให้ป.ป.ช.มาด้อยค่าโดยไม่เป็นธรรม

ด้านนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในบรรดาองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 40 ป.ป.ช. ถือเป็นองค์กรอิสระอันดับต้นๆ ที่มีคำถามจากสังคมมากที่สุดเรื่องความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการใช้อำนาจในการบิดเบือนกฎหมายรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐ เช่น กรณีการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งเรื่องนี้ค้านต่อความรู้สึกของนักการเมืองทั้งสภาแห่งนี้ ต่อมาคือเรื่องแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

นางอมรัตน์ กล่าวอีกว่า ตนขอฝากไปถึงป.ป.ช. ว่า ต่างหูมุกที่ตนใส่วันนี้เป็นของคุณแม่ กระเป๋าที่ใช้วันนี้ และที่สลับใช้หลายๆ ใบเพื่อนให้ยืมมา ตนขอบคุณบรรทัดฐานของป.ป.ช. ที่ได้สร้างบรรทัดฐานให้ตนสบายใจในการหยิบยืมข้าวของเครื่องใช้จากเพื่อนๆ ป.ป.ช.มีอำนาจล้นเหลือ มีอำนาจที่จะตรวจสอบองค์กรอิสระด้วยกันเองยังได้

นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าถ้าท่านเพียงกล้าใช้ดาบอาญาสิทธิ์ที่ท่านมีในมือจะเกิดผลดีต่อประเทศชาติเรามากมาย ในรายงานฉบับนี้ ตนเห็นว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 ราย ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลขณะนี้ถูกชี้มูลความผิด คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จำนวน 2 เรื่อง และรัฐมนตรีมหาดไทยในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ อีก 1 เรื่อง เป็นเรื่องของรัฐวิสาหกิจไม่กี่เรื่อง นอกนั้นจะเป็นเรื่องปลาซิว ปลาสร้อย

นางอมรัตน์ กล่าวอีกว่า ตนอยากเห็นท่านแสดงความกล้าหาญ และผลงานในการจับทุจริตองค์กรที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ เช่น กอ.รมน. กองทัพทั้งหลาย ทั้งบก เรือ อากาศ ซึ่งตนไม่เคยได้เห็นผลงานของ ป.ป.ช.ในส่วนนี้เลย มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อใช้ในการสลายชุมนุม เรื่องนี้ตนชี้เป้าให้ท่านไปตรวจสอบดูว่าเงินที่ใช้ไปนี้ตรงไปตรงมาหรือไม่ ในบรรดาเรื่องร้องเรียนเกือบหมื่นเรื่อง ตนเชื่อว่ามีเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพ หรือหน่วยงานความมั่นคงจำนวนมาก แต่ไม่ทราบว่าไปตกหล่นอยู่ตรงไหน ตนจึงไม่เคยเห็นผลงานการชี้มูลความผิดเลย

นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังใช้เงินจากภาษีประชาชนกว่า 7 ล้านบาท ออกแคมเปญพูดหยุดโกง ที่มีการจ้างดารามาร่วมโพสต์ข้อความจำนวนมาก ท่านได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบโดยยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ตนต้องพูดเรื่องนี้ เพราะงบประมาณของปีนี้ยังมีการใช้งบประมาณประเภทนี้อีกเป็นจำนวนถึง 94 ล้านบาท เช่น โครงการบ่มเพาะความดี ทำมาแล้ว 11 รุ่น ขอถามว่า ได้คนดีมาแล้วกี่คน

“โครงการนิวเจ็นต้านทุจริต โครงการพิมพ์หนังสือหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา กับหลักสูตรต้านทุจริตที่ใช้งบฯ กว่า 10.5 ล้านบาท ท่านพิมพ์แบ่งแจกใครบ้าง ลอกเอาไปแบ่งแจกทำเนียบดูบ้างดีหรือไม่ ฯลฯ จากประสบการณ์ที่ท่านนำงบฯ จากภาษีประชาชนไปใช้ออกแคมเปญพูดหยุดโกง ทำให้ดิฉันไม่ไว้วางใจการใช้งบฯ ของท่านในส่วนนี้ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ ได้ทั้งหมด แล้วใครตรวจสอบพวกท่าน นอกจากพวกตนที่อยู่ในสภาแห่งนี้ และเจอหน้ากันปีละครั้ง”

ต่อมานายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ป.ป.ช. รู้ว่าตนเสนอแนะท่านด้วยความสุจริตใจ สิ่งที่ตนได้เสนอแนะคือสิ่งที่ป.ป.ช.ต้องเอาไปปรับปรุงตนเอง ไม่อย่างนั้นก็จะถูกประชาชนค่อนขอด และตั้งคำถามกับท่านต่อไปว่า ป.ป.ช.นี้ ย่อมาจากคำว่า ปกป้องคนชั่ว หรือปกปิดประชาชนกันแน่

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า เราเสียเงินงบประมาณมหาศาลเพื่อคาดหวังกับองค์กรอย่าง ป.ป.ช.ในการทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนและครอบคลุม ตัวอย่างเวลาที่เรามีการอภิปรายในสภาฯหลายเรื่อง ที่มีการเปิดเผยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำไมป.ป.ช.ถึงไม่ทำอะไรหรือตอบสนองสิ่งที่ผู้แทนประชาชนอภิปรายเลยแม้แต่น้อย

“อย่างกรณีป่ารอยต่อ ผมได้อภิปรายไม่ไว้วางใจโดยอภิปรายนอกสภาฯ แต่เป็นกรณีที่มีการพูดคุยอย่างวงกว้างในสังคม แล้วเหตุใดป.ป.ช.ถึงไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้ อย่างกรณีในรูปที่โชว์ คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ ได้ใช้ทรัพย์สินของราชการเพื่อไปปฏิบัติภารกิจของมูลนิธิแล้วมีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจำนวนมากออกมาต้อนรับ คำถามที่สำคัญคือทำไมตั้งแต่ตนอภิปรายไป ป.ป.ช.ไม่ทำอะไร”

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า กรณีเรื่องตั๋วช้าง เวลาผ่านไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้มีมูลและความสำคัญ ไม่ใช่แค่กับคนไม่กี่คน แต่คนนับล้านคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตรวจ คำถามคือ ป.ป.ช.ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้หรือไม่ และเคยได้ตรวจสอบหรือไม่ การอภิปรายในสภาฯ ของผู้แทนฯ ไม่มีความหมายเลยใช่หรือไม่ แล้วเราจะเสียเงินนับพันล้านบาทเพื่อองค์กรของท่านไปทำไม หรือกรณีดาวเทียมไทยคม ที่ท่านรู้อยู่แก่ใจว่าจะมีบริษัทเอกชนได้ประโยชน์ตรงนี้ จากการที่รัฐมนตรีบางคนไปมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนายทุน ซึ่งตนก็ร้องเรียนป.ป.ช.และผ่านมาหลายเดือนแล้ว

“คำถามคือท่านทำอะไรอยู่ เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ท่านใข้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่อยู่กันข้ามกับรัฐบาล ท่านทำรวดเร็วราวปานกามนิตหนุ่ม แต่พอพวกเราร้องเรียนท่านเชื่องช้าเหมือนลาที่อายุมากแล้ว นั่นคือสิ่งที่เราไม่เข้าใจว่า ป.ป.ช.ที่รับงบประมาณมหาศาลจากภาษีของประชาชนทำไมถึงได้ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพแบบนี้”

“กรณีข่าวงูเห่ารับเงินรับทอง บางกรณีมีคลิปเสียง ป.ป.ช.เคยตรวจสอบหรือไม่ อยู่ดีๆ นักการเมืองที่มาจากประชาชนย้ายไปอยู่อีกพรรคหนึ่งป.ป.ช.ไม่ทำอะไรเลยหรือ เอาแค่ท่านส่งคนในองค์กรของท่านมาตรวจสอบว่ารถกี่คันที่ใช้กันอยู่ก็รู้แล้วว่าอยู่ในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ป.ป.ช.ได้ทำหรือไม่ หรือท่านเป็นองค์กรที่มีหน้าที่แค่เพียงปกป้องรัฐบาลเท่านั้น”

“หากป.ป.ช.ยังเป็นแบบนี้ แล้วจะปราบคอร์รัปชั่นได้อย่างไร สิ่งที่เห็นในรายงานคือเอาไว้ประชาสัมพันธ์ด้านเดียว โดยไม่ได้พูดถึงตวสมเสียหายในสิ่งที่ไม่ได้ทำ ขยะครับ” นายรังสิมันต์ กล่าว พร้อมกับโยนเล่มรายงานของป.ป.ช.ทิ้ง

ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ ที่หมายถึงต้องอิสระในการปฏิบัติ หน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ท่านต้องกล้าหาญ และปราศจากอติในการใช้ดุลพินิจ ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ถูกตั้งข้อสงสัยว่าท่านมีความกล้าหาญหรือไม่ เนื่องจากที่มาของท่านบางส่วนมาโดย คสช. การทุจริตเป็นภัยร้านแรงต่อสังคม โดยเฉพาะการทุจริตเงินที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ท่านจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“ถ้าสังคมไทยยังมีการทุจริต อย่าหวังเลยว่า เราจะพัฒนาประเทศไปได้ ตนฝากให้ท่านดูแลงบประมาณแผ่นดิน การป้องกันอาชญากรรม ย่อมสำคัญกว่าการลงโทษอาชญากร วันนี้คนที่ทำร้ายป.ป.ช. คือ คณะกรรมการป.ป.ช. หรือข้าราชการในป.ป.ช.ที่ไม่ฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กล่าวมา สิ่งสำคัญที่สุดที่ท่านต้องทำคือ การคัดเลือกคนเข้ามาเป็นคณะกรรมการป.ป.ช. ทำอย่างไรท่านสามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพ สัตย์ซื้อ และรักความยุติธรรมเข้ามาได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

จากนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า ปี 63 เป็นปีแรกที่เราได้รับงบประมาณมา เจตนารมย์ของการมีกองทุนฯ เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน ดังนั้น กิจกรรมใดก็ตามที่เราเห็นว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เฉย ต่อความทุจริต คณะกรรมการป.ป.ช.เราก็จะสนับสนุนโครงการ ยอมรับว่าการดำเนินโครงการบางครั้งอาจจะไม่ถูกต้อง 100%

“อย่างไรก็ตาม ในปี 64 เราได้รับงบประมาณ 100 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์ คือ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เช่น สตช. ป.ป.ท. ฯลฯ โดยวันนี้นโยบายของป.ป.ช. คือต้องดำเนินการรื่องที่ร้ายแรง เรื่องที่ไม่ร้ายแรงเราต้องมอบให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการปราบปรามการทุจริต ซึ่งการมอบงานให้หน่วยงานต่างๆ ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งบางหน่วยงานงบประมาณอาจจะไม่เพียงพอ กองทุนตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์”

ทั้งนี้ โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาข้อมูลสถิติคำกล่าวหาร้องเรียนที่เข้ามายังป.ป.ช. มีจำนวน 2,000 เรื่อง ซึ่งถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมากระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. อาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากมีกระบวนการบางอย่าง แต่ขณะนี้กระบวนนั้นได้ถูกกำจัดออกไปแล้ว และแนวโน้มคำกล่าวหาที่เข้ามาลดลง ซึ่งหากลดลงต่อเนื่องเราก็จะสามารคลี่คลายจำนวนคดีที่ค้างอยู่ได้ วันนี้เราพยายามเคลียร์เรื่องเก่า อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินกองทุนที่ท่านแสดงข้อห่วงใยมาตนก็น้อมรับ และจะนำไปดำเนินการแก้ไข

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินวันนี้เราพยายามปรับปรุงกฎหมาย กรณีที่มีการท้วงติงว่าทำไมป.ป.ช.ไม่ยอมให้ผู้ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานเปิดเผย เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้จริงๆ ไม่ใช้ป.ป.ช.ไม่ยอมสนองตอบตามคณะกรรมการตามกฎหมายอื่น แต่กฎหมายป.ป.ช.เป็นเช่นนั้น แต่ควมห่วงใยนั้น คณะกรรมการป.ป.ช.ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายมาตรานั้นแล้ว ดังนั้น ต่อไปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เปลี่ยนชุดเข้ามาดำรงตำแหน่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเมื่อยื่นแล้วผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องเปิดเผยให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบ เรื่องนี้คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ

“วันนี้กฎหมายในเรื่องจงใจไม่ยื่น หรือจงใจปกปิดได้เปลี่ยนบริบทไปให้มีลักษณะไต่สวนเพื่อพิสูจน์ว่าเขาจงใจไม่ยื่น และหากตรวจสอบแล้วไม่สามารถชี้แจงถึงทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น หรือหนี้สินที่ลดลงได้เราจะต้องดำเนินการเรื่องร่ำรวย เราจะดำเนินการนำเงินที่ท่านได้ไปโดยมิชอบนั้นกลับคืนสู่แผ่นดิน สุดท้ายเราพยายามคัดเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่ป.ป.ช. กล้าหาญ เที่ยงธรรม และปราศจากอติในการใช้ดุลพินิจ เราต้องทำ และไม่ใช่แค่ป.ป.ช. แต่ทุกคนที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมต้องทำ” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกฯ ได้อภิปรายอย่างกว้างขวางแล้ว ประธานได้สั่งปิดการประชุมเวลา 20.38