ชวนอ่าน “ทุน วัง คลัง (ศักดิ)นา” ไขปมปัญหาปชต.ไทยล้มลุกคลุกคลาน ในมิติทุน-เศรษฐกิจ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เมื่อเวลา 17.00 น. ในงาน Matichon Bookmark 2021 สำนักพิมพ์มติชนได้จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา” จากผลงานล่าสุดร่วมกันของ อภิชาต สถิตนิรมัย และอิสร์กุล อุณหเกตุ 2 อาจารย์ 2 รุ่นจากรั้วเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่จะมาฉายภาพพัฒนาการเศรษฐกิจของไทยที่เกี่ยวพันกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อกุมอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นนำเก่าและใหม่ ที่อาจทำให้เข้าใจถึงปรากฎการณ์วงจรรัฐประหารที่เกิดขึ้นมาตลอด 8 ทศวรรษการเมืองไทย

อภิชาต กล่าวขยายความถึงส่วนหนึ่งในบทนำหนังสือว่า ระบอบประชาธิปไตยในตัวเองเป็นกลไกที่เลือกตั้งเอาผู้แทนเข้าสู่การเมือง คนส่วนใหญ่ตอนนั้นมีช่องว่างรายได้มากกว่าชนชั้นสูง ดังนั้นเพื่อให้ได้การเลือกตั้งจะมีแรงกดดันของระบอบประชาธิปไตยว่าด้วยการกระจายรายได้ เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ซึ่งชนชั้นนำยอมไม่ได้อยู่แล้ว จึงต่อต้านเพื่อสกัดการกระจายรายได้ หนังสือจะตีกรอบตั้งแต่ พ.ศ. 2398 ถึง 2475 เล่าถึงระดับความเหลื่อมล้ำตั้งแต่การเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ทุนนิยมไทย ในเวลาร้อยปีจนถึงอภิวัฒน์สยาม ที่เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในรายได้ พอเกิดปฏิวัติสยาม ก็เกิดสร้างแรงรูงใจให้ชนชั้นนำเก่าต่อต้านการอภิวัฒน์ เพราะหากเกิดประชาธิปไตยขึ้นจะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ

อภิชาตกล่าวอีกในส่วนบทที่ 2 ว่า เนื้อหาจะกล่าวถึงวิธีการสะสมทุนในรูปที่ดิน เพราะตอนนั้นสยามเป็นสังคมเกษตรกรรมยังไม่เข้าสู่อุตสาหกรรม เราผลิตข้าวเพื่อการส่งออก ปัจจัยสำคัญคือที่ดิน หลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ราคาที่ดินสูงขึ้น ราคาข้าวก็สูงขึ้นเพราะการส่งออก ทำให้เกิดการครองที่ดินเพิ่มรอบกรุงเทพฯ เช่น รังสิต คลองเปรม จุดประสงค์หลักคือถือครองที่ดินเพื่อการปลูกข้าวทำกำไร

ชนชั้นปกครองเมื่อเปลี่ยนที่รกร้างให้เป็นที่ดินให้เช่า ทำให้ชนชั้นปกครองได้ทั้งที่ดินและค่าเช่า เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เจ้านายพระองค์หนึ่งกล่าวว่า ไม่มีอาชีพใดจะเหมาะกับชนชั้นสูงได้เท่ากับการถือครองที่ดิน ที่ดินกลายเป็นสินทรัพย์หลักของชนชั้นปกครอง ปัญหาส่วนใหญ่จึงเกิดจากการสะสมที่ดิน ที่ดินกรุงเทพฯพัฒนาเป็นอสังหาฯ การตัดถนนคลองผดุงฯ เกิดสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงสำนักพระคลังข้างที่ ได้ที่ดินและเก็บค่าเช่า การอภิวัฒน์สยามจึงเกิดขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น โดยเฉพาะรายได้

ชนชั้นปกครองในตอนนั้น ถือครองที่ดินจนถึงขั้น นับเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ ในช่วงหนึ่งที่ดินส่วนใหญ่ถือครองโดยกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ จนสิ้นสุดรัชกาลที่ 5 กรมพระคลังข้างที่เป็นผู้ครอบครองที่ดินสูง 90% ของทั้งหมด ที่เหลือเป็นปล่อยเงินกู้ จนขนาดโดยคร่าวๆ สินทรัพย์พระคลังข้างที่มีขนาดใหญ่ถึง 3-4 เท่าในปี 2453

เมื่อเกิดการอภิวัฒน์สยาม ผู้ปกครองเก่าก็พยายามขัดขวาง นี่เป็นประเด็นที่จะสื่อ

ชนชั้นนำเก่า vs ชนชั้นนำใหม่

ด้านอิสร์กุล กล่าวถึงอำนาจการเมืองหลังอภิวัฒน์สยามว่า อำนาจควบคุมทรัพยากรถูกเปลี่ยนจากชนชั้นนำเดิมสู่คณะราษฎร แต่ก็เปลี่ยนได้แค่ผู้ถืออำนาจ ไม่ได้กระจายอำนาจให้ประชาชนจริงๆ หากถามว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เอื้อต่อเศรษฐกิจผูกขาดหรือไม่ จริงๆ ถ้ากล่าวถึงการผูกขาดนั้น เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ หรือแม้แต่ปัจจุบันมีการผูกขาดในรูปแบบรัฐมอบสัมปทานบ้าง แต่ก่อนปี 2475 การผูกขาดแบบหนึ่งคือยึดครองปัจจัยการผลิต ซึ่งสำคัญหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง นำไปสู่การผูกขาดที่ดินและเก็บค่าเช่าที่ดิน

เมื่อกล่าวถึงเค้าโครงเศรษฐกิจฯของอ.ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในแกนนำคณะราษฎรที่เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจตามหลัก 6 ประการ อภิชาตกล่าวว่า ชนชั้นปกครองยังเป็นชนชั้นเจ้าที่ดินด้วย พอหลัง 2475 ไม่กี่เดือนอ.ปรีดีเสนอสมุดปกเหลืองหรือแผนเค้าโครงพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็นคือ แผนพัฒนาฯเสนอให้รัฐบังคับซื้อที่ดินและรวบรวมชาวนามาปลูกข้าวในรูปแบบสหกรณ์ ทำเกษตกรรมขนาดใหญ่บนแนวคิด Economy of Scale ซึ่งเป็นตัวอย่างรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตย การบังคับซื้อเป็นเหมือนตีเอาที่ดินขุมทรัพย์ของผู้ปกครองเดิมมาเป็นของรัฐ ทำให้เกิดการตอบโต้ทันที สู่การรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเหตุการณ์นี้นำไปสู่การเกิดกบฎบวรเดช เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าและใหม่ ทำให้การประนีประนอมระหว่าง 2 อำนาจหลังการอภิวัฒน์สยามต้องสิ้นสุด

แม้ฝ่ายกบฎเจ้าจะพ่ายแพ้ต่อคณะราษฎร แต่เค้าโครงเศรษฐกิจและแผนปฏิรูปที่ดินใหญ่ เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการปฏิรูปการถือครองที่ดิน ในความหมายเอาที่ดินที่มีเจ้าของแล้วมากระจายใหม่ แล้วเราเห็นความชัดเจนตอนนี้ ที่คนกลุ่มหนึ่งถือครองที่ดินมากกว่า นี่ผลเป็นของแผนพัฒนาฯฉบับนี้ถูกรัฐประหารไป และยังทำให้ประชาธิปไตยไม่ลงหลักปักฐาน

เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรรัฐประหารมาตลอด

การปฏิรูปการคลัง-และสวัดสิการ หลัง 2475 มรดกคณะราษฎรที่เหลือรอด

ด้านอิสร์กุล กล่าวถึงบท 3 ด้านการปฏิรูปการคลังก่อนและหลัง 2475 ว่า เรามอง 2 ขาหลัก โดยขาแรกคือรายได้และรายจ่าย ในบทแรกพยายามฉายภาพให้เห็น ส่วนที่ลดความเหลื่อมล้ำนั้นคือการคลัง เราจึงพยายามเก็บภาษีเพื่อช่วยประชาชนจากความเหลื่อมล้ำ ก่อน 2475 เรามองภาพว่า รายรับถูกจำกัดการมอง สนธิสัญญาการค้าเราบอกว่าตอนนั้นสินค้าส่งออกคือข้าว แต่สนธิสัญญาจำกัดไม่ให้สามารถเก็บอากรขาเข้าได้

ในช่วงก่อนมีสนธิสัญญาเบาว์ริง คนคือกำลังหลัก การขูดรีดส่วนเกินคือขูดรีดกำลังคน แต่พอมีสนธิสัญญาถูกจำกัดวิธีการ ทำให้รายรับของรัฐบาลคือ เก็บภาษีปัจจัยผลิตจากคน หรือก็ภาษีรัชชูปการ ส่วนที่ 2 เก็บอากรที่ดิน ค่าน้ำ อากรสมพัตสร เราเห็นภาพว่า การคลังควรที่จะลดความเหลื่อมล้ำแต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น ชาวนาต้องแบกค่าเช่า จ่ายหลายเด้ง จ่ายค่าที่นา จ่ายอากรการค้า เงินค่ารัชชูปการ เก็บภาษีแบบนี้กลับซ้ำเติมเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ขา 2 คือ ภาษีที่ได้เอาไปทำอะไร มีงานหลายชิ้นที่ระบุว่า ภาษีแทนจะเอาไปใช้พัฒนา กลับลงไปกับงบกองทัพ งบสถาบันกษัตริย์ ความมั่นคงภายในประเทศ เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ รายรับและจ่ายไม่ได้ลด ความเหลื่อมล้ำรายได้จึงสูง

แต่หลัง 2475 มีสถานการณ์หลายอย่าง ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ 1930 ตอนนั้นถามว่า เกิดอะไรขึ้น เราพึ่งพาส่งออกข้าว แต่พอส่งออกน้อยลง ชาวนาก็แย่ หลัง 2475 ส่วนแรกที่แก้ไขคือ ภาษีที่ไม่เป็นธรรม เปลี่ยนไปเป็นภาษีเงินได้ อันที่ 2 อากรค่านา ก็พยายามขจัดออกไปจนกระทั่ง 2482 ออกพรบ.ประมวลรัฐฎากร ขึ้น และการมีลงทุนสวัสดิการต่างๆเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามถึงบทบาทคณะราษฎรในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการส่งเสริมสวัสดิการเพื่อบรรเทาปัญหา โง่ จน เจ็บ นั้น อภิชาตกล่าวว่า แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้ แต่ที่พอสำเร็จได้ คือการเพิ่มงบการศึกษาและสาธารณสุข ตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 6 ไม่เคยมีการเพิ่มงบสาธารณสุข กว่าจะรู้ว่าสำคัญ พอรัฐยอมรับก็เพราะแรงบีบจากต่างประเทศ ตอนนั้นไม่มีโรงพยาบาลสมัยใหม่ให้เข้าถึงในพื้นที่อื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ ยิ่งโรงพยายาบาลไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ ก็ถูกจัดตั้งบนแนวคิดแบบพระราชกุศล อย่างศิริราช และวชิรพยาบาล จนหลัง 2475 ในยุครัฐบาลจอมพล ป. ที่มีการตั้งกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการขยายโรงพยาบาลระดับจังหวัด จนปี 2499 ก็ทำให้ มีรพ.ประจำจังหวัดละ 1 แห่ง ที่สำคัญคือความสำคัญของงบการศึกษา ก่อนปี 2475 แม้รัฐให้ความสำคัญแต่ก็เน้นผลิตข้าราชการสมัยใหม่ การศึกษาก็ยังไม่เท่าเทียม ส่วนใหญ่ลงทุนเพื่อชนชั้นสูง ขณะที่การศึกษาเพื่อประชาชนไม่ได้รัฐอุดหนุน และยังใช้วัดเป็นที่ทำการสอน

การขาดแคลนนี้ กลายเป็น 1 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ทำให้หลังปี 2475 คณะราษฎรระดมทรัพยากรสร้างโรงเรียน เพิ่มถึง 12% ก่อนปี 2500 การศึกษาภาคบังคับจนถึงป. 4 ก็สำเร็จก่อนปี 2500

นับเป็นพยายามของชนชั้นปกครองใหม่ในเวลา 25 ปี ที่ทำให้การแพทย์สมัยใหม่ถูกวางรากฐานสำเร็จก่อนการรัฐประหารของสฤษดิ์

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงการโต้กลับของชนชั้นนำเก่าต่อความพยายามเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำใหม่ อภิชาตกล่าวว่า จะรักษาเงินในกระเป๋าต่อไปให้ได้ ก็ต้องขัดขวางผ่านผู้ปกครองรุ่นใหม่ด้วยการตอบโต้ทางการเมือง การรัฐประหารปี 2490 และ 2500 เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของชนชั้นเก่าที่ตอบโต้คณะราษฎร ไม่ให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐาน เพื่อรักษากระเป๋าก็พยายามกลับสู่แบบเดิมแม้ไม่ 100% แต่อย่างน้อยอำนาจยังอยู่ในมือผู้ปกครองเดิม

และนั้นทำให้ทหารเราติดธรรมเนียมก่อรัฐประหาร ผมตีความการรัฐประหารครั้งสำคัญอย่างสฤษดิ์ ว่าทำให้ชนชั้นนำเก่าชนะอย่างเด็ดขาด คณะราษฎรถูกกวาดล้างสิ้น แล้วพอยุคสฤษดิ์ก็ใช้แนวเศรษฐกิจแบบใหม่โดยไม่สนใจหรือพูดถึงความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามหลังอ่านหนังสือจบ เห็นที่มาที่ไปของมหากาพย์การเมืองไทยนี้ จะฝากอะไรไว้ถึงประชาชนและชนชั้นนำจารีตในการอยู่ร่วมกัน อิสร์กุล กล่าวว่า ผมคิดว่าถ้าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์อะไร ก็ทำให้เราเข้าใจอดีต ก็เข้าใจปัจจุบันมากขึ้น ทำไมระบบคลังถึงขัดแย้งหลังปี 2475 เงินที่เก็บได้มาใช้จ่ายยังไง ใครตัดสินใจ จะเห็นว่าพอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจใหญ่ ก็มักมีงบที่ตัดไม่ได้ พอมองปัจจุบัน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายส่วนมีประโยชน์มากขึ้นอย่าง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายงบประมาณฯ ทำไมการคลังถึงขัดแย้ง เพราะใครๆก็อยากมีอำนาจตัดสินใจการแบ่งเค้กชิ้นนี้

อภิชาตยังกล่าวเสริมว่า อำนาจรวมศูนย์ นำไปสู่ ความเหลื่อมล้ำ 2 สิ่งนี้เกิดก่อนอภิวัฒน์สยาม แต่พออภิวัฒน์สยาม ก็ยังแก้ไม่ได้ ชนชั้นสูงที่มีอำนาจและความร่ำรวย ต่อต้านประชาธิปไตย เป็นหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้ พยายามสื่อว่า นี่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ยังไม่ถูกแก้ไข ไม่แปลกที่ความขัดแย้งนี้ยังคงอยู่ พอคิดอีกที สิ่งที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอคือปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน