ไพบูลย์โมเดล : ‘วิษณุ’ ชี้ช่อง ถ้าพรรคอื่นเดินรอยตาม ต้องทำให้เหมือน ‘โรม’ ซัดตัวอย่างไม่ดี

ผลพวง ศาลรธน.เสียงข้างมาก ให้ “ไพบูลย์” ไม่หลุด ส.ส. กรณียุบพรรคตัวเองเข้าร่วมพลังประชารัฐ  “โรม” ชี้เป็นตัวอย่างแย่ๆให้พรรคอื่น “วิษณุ” ชี้ ถ้าจะทำตามก็ทำให้เหมือน เหตุทำไม่เหมือนอาจจะแปลความเป็นอย่างอื่นได้

วันที่ 21 ต.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. หลังพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) เลิกกิจการ แล้วไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะกลายเป็นโมเดลให้พรรคเล็กอื่นๆทำตามหรือไม่ ว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดทั้งหมดเห็นแต่ตัวฉบับย่อที่ออกมา ถ้าทำได้ไม่ผิดคนอื่นก็ทำได้ไม่แปลก แต่ถ้าจะทำตามก็ทำให้เหมือน เพราะถ้าทำไม่เหมือนอาจจะแปลความเป็นคนละอย่างอื่น

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่สิ้นสมาชิกภาพส.ส. จากกรณีเลิกหรือยุบพรรคประชาชนปฏิรูปเพื่อเข้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ว่า เป็นที่รู้ในสภาอยู่แล้วว่า หลายพรรครอดูว่ากรณีนายไพบูลย์ จะจบอย่างไร นี่คือหนูทดลองว่า โมเดลแบบที่นายไพบูลย์ทำ คือเลิกพรรคตัวเองแล้วไปเข้ากับพรรคใหญ่นั้น สุดท้ายรอดหรือไม่รอด

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จะทำให้เกิดกระบวนการตั้งพรรคขึ้นมา อาจเป็นพรรคเล็กพรรคย่อย ไม่ได้เข้มแข็งทางการเมือง เข้ามาได้คะแนนปัดเศษหรือคะแนนปริ่มๆ สุดท้ายมารวมกับพรรคใหญ่ ซึ่งไม่ได้สะท้อนอุดมการณ์

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า คำถามคือ เมื่อทิศทางออกมาเช่นนี้ พรรคจะเป็นตัวแทนทางความคิดของประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อพรรคเกิดขึ้นและไปยุบรวมกับพรรคอื่นได้ตลอดเวลา ประชาชนจึงเกิดคำถามว่า แบบนี้แค่ตั้งพรรคมาให้ได้คะแนนพอหอมปากหอมคอแล้วเลิกพรรค ไปเข้ากับพรรคใหญ่ สมมติว่าวันหนึ่งนายไพบูลย์ หลุดจากตำแหน่งลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะจัดการกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาแน่นอน

“ผมรู้สึกว่าการทำแบบที่นายไพบูลย์ทำ ไม่ใช่เพราะมีความคิดทางการเมืองเปลี่ยนไป แต่คุณวางแผนมาตั้งแต่ต้นว่าจะหาช่องทางแบบนี้ เพื่อเข้ามาและมายุบรวมกันทีหลัง บิดจากสิ่งที่มันควรจะเป็น ที่เราอยากเห็นพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน ปัญหาใหญ่คือ คนที่ออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้คิดรอบคอบหรือไม่ แต่ผมคิดว่าไม่เก่งเอาเสียเลย ออกแบบมามีปัญหา เกิดความวุ่นวายในระบบการเมืองเต็มไปหมด” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ในเชิงประเด็นข้อกฎหมาย กรณีนายไพบูลย์ คงต้องถกเถียงกันมากพอสมควรว่าทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่คงเอาผิดนายไพบูลย์ยาก อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคืออะไรกันแน่ และหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับพรรคอื่น

ทั้งนี้ ตนยังอยากเห็นนายไพบูลย์ น้อมนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ เพราะคงมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เลือกนายไพบูลย์ เพราะน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ตอนนี้กลายเป็นน้อมนำคำสอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็จะทำร้ายหัวใจคนที่เลือกนายไพบูลย์มากไปหน่อย

ส่วน นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อมติคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า เข้าใจว่า คนทั้งประเทศเหนื่อยใจจริงๆ แต่เมื่อเป็นคำวินิจฉัยของศาลก็ไม่น่าจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรได้ แต่ถามว่า ถ้าวินิจฉัยเช่นนี้ก็ต้องยอมรับไป แต่การที่นายไพบูลย์กับกรรมการบริหารพรรคไม่กี่คนประชุมแล้วยุบพรรค โดยไม่ผ่านการประชุม หรือมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคที่เข้ามา เพราะเลื่อมใสศรัทธาในพรรคของนายไพบูลย์ ที่มีนโยบายเกี่ยวกับการน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือศรัทธาต่อนโยบายเลย ซึ่งตามหลักการแล้ว เรื่องนี้ควรจะผ่านการประชุมของสมาชิกทั้งหมด

“โดยคนที่อยู่ในพรรคนั้น น่าจะสิ้นสภาพการเป็นส.ส. ไม่น่าจะย้ายไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ของส.ส.อีกพรรคได้ แต่ในเมื่อศาลวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ก็ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัย แต่ผลที่จะตามมาก็คือ จะมีพรรคที่มีส.ส.คนเดียว และพรรคที่ได้เป็นส.ส.จากการปัดเศษด้วยคะแนนที่มีวิธีคิดแบบพิศดารอีกหลายพรรคคงจะมีแนวโน้มที่จะทำตามแบบไพบูลย์โมเดลค่อนข้างแน่นอน เพราะเมื่อศาลวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว มันก็เป็นเรฟเฟอเรนซ์มันอ้างอิงได้ ว่าหากยุบพรรคตัวเองก็ไปรวมกับพรรคพปชร.ได้” นพ.เรวัติ กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่าจะเป็นช่องโหว่ในการควบรวมพรรคใหญ่กับพรรคเล็กอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นพ.เรวัต กล่าวว่า หากเอาตามคำวินิจฉัยของศาลก็คงจะถูกกฎหมายไปแล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปควบรวมพรรคก็ได้ เพียงแต่ว่า พรรคไหนก็ตามที่ยุบพรรคและย้ายไปอยู่อีกพรรคหนึ่งก็คงมีบรรทัดฐานหรือข้ออ้างอิงจากคำวินิจฉัยว่า สามารถทำได้ ฉะนั้นที่บอกว่า อาจจะเป็นพรรคที่มีส.ส.พรรคละคนก็อาจจะมีพรรคอื่นๆ พรรคอะไรก็ได้หมดที่จะทำแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่า พรรคที่มีส.ส. 5 คนอะไรก็ตาม เขาคงมีศักดิ์ศรีหรือมีฐานเสียงของเขาที่อาจจะไม่กล้าไปทำแบบนายไพบูลย์เท่านั้นเอง เช่น พรรคเสรีรวมไทยก็คงไม่คิดจะทำเช่นนี้ มันคงทำไม่ได้ เพราะประชาชนที่เลือกเรามา เขาคงรู้สึกแย่ เพราะเขาไม่คิดจะให้เราไปรวมกับพลังประชารัฐ

“การที่เราจะยุบพรรคแล้วไปรวมกับพลังประชารัฐมันเป็นไปไม่ได้ และคงไม่ได้ไปดูถูกพรรคอื่น แต่ว่าเท่าที่ทราบก็มีพรรคปัดเศษบางพรรคอยากจะทำแบบเดียวกับคุณไพบูลย์อยู่แล้ว ที่สำคัญที่บอกว่า การควบรวมอะไรก็คือคล้ายกันไม่จำเป็นต้องเอาพรรคใหญ่มาเทคโอเวอร์พรรคเล็ก แต่ทำในลักษณะนี้ก็สามารถทำได้เลย คือการควบรวมพรรคก็เกิดขึ้นได้ง่ายดาย เพียงแค่เมื่อมีการยุบพรรคตัวเอง ก็ไปรวมกับใครก็ได้ เมื่อคุณไพบูลย์ทำได้ คนอื่นก็ทำได้ เพราะนั้นอาจจะเกิดการควบรวมพรรคโดยอ้างอิงไพบูลย์โมเดล ซึ่งน่าจะทำได้เพราะใช้ข้อกฎหมายเดียวกัน มันไม่น่าจะพลาด หากจะมีก็คงใช้ข้อนั้น” นพ.เรวัต กล่าว