ทำความรู้จัก มาตรา 116 แปะป้าย ‘ยุยงปลุกปั่น’ สยบความเคลื่อนไหว-เสียงวิพากษ์วิจารณ์

ตลอดสัปดาห์มานี้ ได้มีกรณีการแจ้งข้อหาต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ถึง 2 คน คนแรกเป็นถึงนักการเมืองชื่อดังของพรรคการเมืองที่ถูกไล่ต้อนอย่างหนักในตอนนี้ และคนที่สองเป็นสื่อมวลชนระดับอาวุโส  โดยกล่าวหาด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาของไทยซึ่งถือว่าไม่เคยได้ยินตามหน้าสื่อมานาน แต่กลับใช้บ่อยขึ้นตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 อย่าง มาตรา 116 ที่ความผิดตามมาตรานี้คือ “ยุยงปลุกปั่น” กลายเป็นกฎหมายมาตราล่าสุดที่ถูกใช้เพื่อสยบการต่อต้านรัฐบาล คสช.ไม่ให้ขยายตัวตั้งแต่บนท้องถนนจนถึงบนโลกโซเชียล

ข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ที่กล่าวถึงกันอยู่ขณะนี้ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาคที่ 2 ลักษณะที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร (ในลักษณะนี้ยังมี มาตรา 112 หรือที่รู้จักกันในกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมอยู่ด้วย) โดยความผิดในฐานยุยงปลุกปั่นอยู่ใน มาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

“ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

 

โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ให้รายละเอียดกับกฎหมายมาตรานี้ว่า มาตรา 116 เป็นความผิดอาญาที่มุ่งเอาผิด “การทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่น” หมายความว่า กฎหมายนี้เป็นกรอบกำกับการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือ สำหรับยุคที่มีรัฐธรรมนูญ หากเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขึ้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 และที่สำคัญเมื่อกฎหมายนี้อยู่ในหมวด “ความมั่นคง” การกระทำที่จะถือว่าผิดมาตรา 116 ผู้กระทำต้องมีเจตนาให้กระทบต่อความมั่นคงด้วย

แต่เดิมนั้นการพิจารณาคดีอาญาในความผิดลักษณะนี้ รวมถึง มาตรา 116 อยู่ในขอบเขตของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีต่อพลเรือน กระทั่งเมื่อประกาศ คสช. ที่ 37/2557 ประกาศให้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในลักษณะความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมี ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118
ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทําผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 และความผิดตามประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีตามความผิดดังกล่าวแทนศาลพลเรือน

ต่อมา คสช.ได้ออกประกาศคำสั่งที่ 55/2559 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ให้ยกเลิกอำนาจของศาลทหารในการพิจารณาคดีที่ระบุตามประกาศกลับไปอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม

ตลอด 3 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. มาตรา 116 ได้ถูกใช้ในการเอาผิดกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. โดยเห็นว่ามีพฤติการณ์สร้างความกระด้างกระเดื่องต่ออำนาจรัฐในหมู่ประชาชน อันเป็นภัยต่อเสถียรภาพในการบริหารและความมั่นคงของชาติ ซึ่งไอลอว์และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้มีการรวบรวมข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีมากมายจากหลายอาชีพ ตั้งแต่ ประชาชน นักศึกษา ทนายความ นักเคลื่อนไหว จนมาถึงนักการเมืองและสื่อมวลชน ที่โดนข้อหานี้ ทั้งถูกตั้งข้อกล่าวหาและอยู่ในชั้นพิจารณาคดี อาทิ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของพรรคเพื่อไทย ก่อนล่าสุดมาเป็นอดีตประธานยุทธศาสตร์ของพรรคไทยรักษาชาติและแกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ถูกตั้งข้อหาหลังถูกเจ้าหน้าที่บุกรวบตัวขณะกำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างชาติที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี และอีกครั้งจากกรณี แถลงผลงานของ คสช.ในหัวข้อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” พร้อมกับนายวัฒนา เมืองสุข และนายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมสังคม ถูกจับเมื่อ 5 มิถุนายน 2557 หลังฝ่าฝืนไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช. และมีการโพสต์รวมถึงทวิตข้อความชวนทำกิจกรรมต่อต้าน คสช.ทำให้โดนตั้งข้อหาตาม มาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ร่วมด้วย โดยขณะนี้อยู่ในการพิจารณาชั้นสืบพยาน

ชาวเชียงราย 3 คน ได้แก่ ออด ถนอมศรี และสุขสยาม ถูกจับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จากการติดป้ายมีข้อความขอแบ่งแยกเป็นประเทศล้านนา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย

นายชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน จากวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ต่อมาศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากจำเลยเพียงนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

นายสิทธิทัศน์ และวชิร ถูกจับจากการโปรยใบปลิว ที่มีข้อความต่อต้านคสช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

นายพลวัฒน์ จากการโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. 4 แห่งในอ.เมือง จ.ระยอง ปัจจุบันคดียังไม่มีความคืบหน้า

นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ถูกตั้งข้อหาจากกิจกรรม ‘พลเมืองรุกเดิน’ ’ ที่เดินเท้าจากบางบัวทอง ไปให้ปากคำยัง สน.ปทุมวัน ในคดีเลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 2558 สถานะคดีอยู่ในชั้นสืบพยานโจทก์แต่ไม่เสร็จสิ้น จึงเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า วันที่ .. 2560

14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากการชุมนุมต่อต้านคสช. และเรียกร้องหลักการ 5 ข้อ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน

ชญาภา ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จากการโพสข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ซึ่งโดนตั้งข้อหามาตรา 116 พร้อมกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ด้วย

รินดา พรศิริพิทักษ์ จากการโพสเฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ และตั้งข้อหามาตรา 116 กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อมาศาลได้เห็นว่าไม่มีลักษณะความผิดตาม มาตรา 116 แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 328 และให้ไปฟ้องที่ศาลพลเรือน

8 แอดมินเพจ ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์’ ถูกจับพร้อมกันในเช้าวันที่ 27 เมษายน 2559 ฐานทำเพจเฟซบุ๊กโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในระหว่างสืบพยานฝ่ายโจทก์และนัดสืบอีกครั้งในวันที่ 19 ธันวาคม 2560
ทั้งนี้ น.ส.ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ 1 ใน 8 สมาชิกกลุ่ม ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 จวบจนวันนี้ ณัฏฐิกา ได้ใช้ชีวิตอยู่สหรัฐฯมาแล้วเกือบ 2 ปี
คดีจดหมายเห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญ ของบุญเลิศ-ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์และพวกรวม 15 คน จากกรณีส่งจดหมายจำนวนมากไปยังประชาชนในจังหวัดลำปาง, ลำพูน, เชียงใหม่ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2559 อยู่ในระหว่างชั้นสืบพยาน
น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความสิทธิมนุษยชนและผู้ได้รับรางวัลสตรีผู้กล้าหาญจากรัฐบาลสหรัฐ ประจำปี 2561 เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2559 ที่สน.สำราญราษฎร์ หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความไว้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 อ้างทนายความมีพฤติการณ์ “กระทำผิด” ร่วมกับ 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โดยนำสิ่งของของนักกิจกรรมไปเก็บในรถยนต์ อยู่ในระหว่างต่อสู้คดี
นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ภายหลังจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท.จะไปขอให้ศาลอาญาออกหมายจับ เหตุโพสต์ข้อความชวนให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปแถลงปิดคดีจำนำข้าวที่ศาลอาญาแผนกคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ โดยนายประวิตรได้โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 1 สิงหาคม 2560  พ.ต.ท. กิตตินัทธ์ ประชุมสุข รองผู้กำกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ติดต่อแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 116 ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กประมาณ 5 โพสต์ โดยไม่ทราบว่าเป็นข้อความใด ซึ่งนายประวิตรจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 สิงหาคมนี้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแกนนำทีมเศรษฐกิจของพรรคไทยรักษาชาติและแกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย เข้ารับทราบข้อหากับเจ้าหน้าที่ ปอท.เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 จากโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยและทฤษฎีกบต้ม ในช่วงวันที่ 26 และ 27 กรกฎาคม 2560

ทั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยังต้องเผชิญและต่อสู้คดีในข้อหานี้ต่อไป แต่วันข้างหน้าอาจไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ตราบใดที่ยังคงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนืองๆ อาจมีประชาชนที่ต้องถูกตั้งข้อหาในความผิดดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้