นพ.นิธิพัฒน์ ชี้มาตรการรัฐคุมโควิด แค่ชะลอ! ชี้สัปดาห์หน้ารัฐบาลต้องคิดรับมือโจทย์ใหญ่

นพ.นิธิพัฒน์ ชี้มาตรการรัฐ ทำได้แค่ชะลอโควิด เผยโจทย์ใหญ่ศบค.-รัฐบาลต้องคิดสัปดาห์หน้า ประชาชนแยังงงกับตัวเลขที่นำเสนอมาหลายรอบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กว่า

เมื่อวานเป็นวันศุกร์ 13 ที่พวกฝรั่งตาน้ำข้าวเขากลัวกันหนักหนา สำหรับคนไทยเราตอนนี้คงชินชากันแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าภัยโควิดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จะไปหวังพึ่งภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ดูเหมือนกล้าๆ กลัวๆ เงอะๆ งะๆ จนปล่อยปัญหาบานปลายไปมาก พอยิ่งไม่ยอมตัดสินใจเด็ดขาดไปเสียที ทิ้งให้เหมือนแผลเรื้อรังก็จะยิ่งรักษาหายขาดยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ลูกสาวคนโตของผมและเพื่อนๆ ที่เรียนมหาลัยปีสาม เริ่มตั้งคำถามว่าจะดรอปดีไหม การเรียนออนไลน์สำหรับบางวิชาชีพมันแห้งแล้งการฝึกฝนประสบการณ์ ลูกศิษย์ที่เป็นแพทย์ทั่วประเทศตั้งคำถามมานานว่า พวกเขาจะต้องอดทนทำงานหนักผิดวิสัยนี้ไปอีกนานเท่าไร การแพทย์วิถีใหม่ที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิด มีแต่จะรุกรานเนื้อที่ของผู้ป่วยทั่วไปให้หดแคบลงเข้าทุกที

เมื่อวานตอนเย็นร่วมฟังการประชุมเตรียมความพร้อมทางการแพทย์ในเขตกทม. ทุกภาคส่วนเร่งทำงานกันอย่างสุดความสามารถ เพื่อยับยั้งโรคร้ายนี้กันอย่างเต็มที่ และหลายเรื่องที่ไม่เคยทำได้มาก่อนก็เริ่มเป็นจริงขึ้นมา แต่ดูเหมือนการว่ายทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี้ นอกจากยังมองไม่เห็นฝั่งใกล้เข้ามาเสียที ที่กลัวสุดคือผู้กล้าว่ายทวนน้ำเหล่านี้จะหมดแรงจมน้ำไปเสียก่อน

วันนี้ตื่นเช้ามานั่งดูชุดข้อมูลโดยละเอียดหลังไม่ได้ยลโฉมใกล้ชิดมาหลายวัน จากรูปที่ 1 แม้จำนวนผู้ป่วยโดยรวมจะไปต่อแบบช้าๆ ส่วนจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรง-ใช้เครื่องช่วยหายใจ-เสียชีวิต แม้จะดูค่อนข้างคงที่ แต่ก็อาจเป็นเพราะผู้ป่วยหนักส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงการรักษา หรือเข้าถึงแล้วแต่เลือกการรักษาแบบประคับประคองระยะท้ายของชีวิต

ถ้าดูจากรูปที่ 2 จะเห็นได้ชัดเจนว่า เรายังไม่ถึงยอดคลื่นที่สถานการณ์เริ่มจะคงตัว ยังมีรอยกระเพื่อมให้เห็นการแกว่งไปมาของตัวเลขอยู่ มาตรการตรวจเชิงรุก (แถบกราฟสีเหลือง) ที่เราควรทำได้มากหลังจากล็อกดาวน์ ก็ยังทำไม่ได้ถึง 25% ของจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน แสดงว่าการหยุดยั้งการระบาดยังห่างไกลความจริงอีกมาก

ข้อมูลการสุ่มเก็บตัวอย่างในรูปที่ 3 เห็นได้ว่าสายพันธุ์เดลตาครอบคลุม 95.4% ในกทม.และ 83.2% ในภูมิภาค ซึ่งอย่างที่เคยเตือนผู้กำหนดนโยบายไว้เมื่อนานแล้วว่า เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มาตรการต่างๆ จนถึงการล็อกดาวน์แบบจำกัดไม่ได้ผลดี

เมื่อมาดูสิ่งที่ตามมาในรูปที่ 4 สถานการณ์ในต่างจังหวัดค่อยๆ แซงหน้ากทม.และปริมณฑลไปแล้ว ยังดีว่าโครงสร้างระบบบริการสุขภาพในเขตหัวเมืองสามารถรับมือกับเหตุวิกฤตได้ดีกว่าเขตเมืองหลวง แต่ทั้งนั้นความทนทานก็คงจะต้องมีขีดจำกัดอยู่เหมือนกัน เมื่อเพ่งไปดูมาตรการรับมือที่ภาครัฐดำเนินการไป ยิ่งทำแบบเดิมๆ ที่คิดว่าจะได้ผลนั้น ดูเหมือนว่าเป็นเพียงแค่การชะลอไม่ให้กราฟพุ่งขึ้นเร็วมากเท่านั้น

โจทย์ใหญ่สำหรับศบค.และรัฐบาลจะต้องขบคิดกันหนักในช่วงสัปดาห์หน้า คือจะดำเนินมาตรการอะไรออกมาอีก เพื่อบังคับให้เส้นสีส้มที่เป็นสถานการณ์จริงในรูปที่ 5 วกกลับลงไปหาเส้นกราฟสีเขียวที่อยากให้เป็นกัน

ตรงนั้นก็ยังเป็นแค่ยาบรรเทาอาการ เพราะเส้นกราฟยังไปต่อแต่แค่ช้าลงเท่านั้น ประชาชนและตัวผมเองก็ยังงงกับตัวเลขที่นำเสนอมาหลายรอบแล้ว ถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่มีประสิทธิภาพ 20 บ้างหรือ 25% บ้างนั้น มีอะไรที่ต่างกันและประเมินผลรายละเอียดในมาตรการได้อย่างไร

หากยังคิดแบบเดิมๆ เราก็คงได้ผลแบบเดิมๆ หากทีมที่รับผิดชอบยังเป็นหน้าเดิมๆ ผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิมคงไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วในยามนี้

ในฐานะที่เป็นราษฎรอาวุโสปีแรกย่างเข้าเดือนที่สี่ ผมคงไม่อยากให้เด็กรุ่นหลังที่จะต้องแบกรับภาระประเทศต่อไปในอนาคต แสดงความเห็นต่อการทำงานของผู้ใหญ่รุ่นก่อนอย่างผมดังในรูปที่ไม่ระบุหมายเลข #เดือนสิงหาอย่าออกบ้าน