“หมออ๋อง” ชวนร่วมจับตาพิจารณาเกณฑ์ขั้นต่ำในกติกาเลือกตั้ง ชี้แบบไหนเพื่อรักษาระบบปชต.

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก จากพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด้นที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนประเด็นระบบการเลือกตั้งว่า

การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่เหมาะสมในกติกาการเลือกตั้ง มีเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่พรรคการเมือง

สวัสดีครับพี่น้องที่รักทุกท่าน
.
จากการที่คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังพิจารณาในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คุณนิกร จำนง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้แถลงว่ามีการแปรญัตติเข้ามาประกอบการพิจารณาทั้งหมด 40 ประเด็น และจะเร่งพิจารณาในช่วงสิ้นเดือนนี้หลังจากปิดประชุมจากสถานการณ์โควิด
.
ผมขอแลกเปลี่ยนในประเด็นที่คุณนิกรให้ความเห็นว่า คำแปรญัตติของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ต้องการให้เปลี่ยนเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำเป็น 0.02% ของคะแนนเสียงทั้งหมด ว่าต้องคำนึงถึงประชาชน ในฐานะผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และความสะดวกของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ไม่ใช่คิดถึงแต่ประโยชน์ของพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่
.
ผมเกรงว่าสังคมจะเข้าใจผิด จึงขอแลกเปลี่ยนและชี้แจงความสำคัญของเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลเสนอดังนี้
.
1. เราเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรที่ดี ไม่ควรมีพรรคการเมืองมากจนเกินไป จนทำให้เกิดสภาพของพรรคเล็กที่ต้องรวมเสียงกันต่อรอง เกิดความไร้เสถียรภาพของสภา แบบที่เราเห็นในสภาทุกวันนี้ เราเห็นด้วยว่าต้องมีคะแนนขั้นต่ำ และไม่ทำให้เกิดการปัดเศษ โกงสูตรคำนวณจนเละเทะแบบปี 62 อีกแล้ว
.
2. เกณฑ์ขั้นต่ำที่เหมาะสม จะทำให้พรรคที่ได้รับความไว้วางมากพอ เข้ามาเป็นตัวแทนของอุดมการณ์และนโยบายที่ประชาชนต้องการได้ ไม่ตั้งเกณฑ์ที่สูงเกินไป จนทำให้สภามีแต่พรรคใหญ่ จนไม่สามารถมีตัวแทนของคนกลุ่มน้อย และนโยบายเฉพาะทางได้
.
3. เกณฑ์ขั้นต่ำที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือ 0.02% ตัวเลขนี้ยังสามารถถกเถียงในรายละเอียดได้ แต่เราใช้เกณฑ์อ้างอิงจากปี 62 ว่าคะแนนเสียง 0.02% ของผู้ออกเสียงนั้น คือประมาณ 80,000 คะแนน เป็นจำนวนที่เหมะสม ที่ประชาชนจำนวน 80,000 คนจะมีตัวแทนอย่างน้อย 1 คน เป็นปากเป็นเสียงให้ในสภา
.
4. การคิดเกณฑ์ขั้นต่ำแบบนี้ จะทำให้ประชาชนกล้าที่จะตั้งพรรคการเมือง ทำนโยบาย และรณรงค์ในการแข่งขันจนเข้ามาได้ ถ้าเกณฑ์สูงเกินไป ทางเดียวจะเป็นส.ส.ได้ คือการเข้าสังกัดในมุ้ง หรือเข้าสังกัดพรรคการเมืองใหญ่ นั้นเท่ากับการตัดสิทธิการเกิดขึ้นของพรรคใหม่ ตัดสิทธิเสียงของคนกลุ่มน้อยไปโดยปริยาย
.
นี่คือเหตุผลของการเสนอเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 0.02% ครับ เพื่อสภาจะเป็นที่ของตัวแทนปวงชนชาวไทย ตัวแทนของประเทศไทยทั้งประเทศได้จริงๆ การพิจารณากฏหมาย งบประมาณ ด้วยมติของเสียงข้างมาก ก็จะมีเสียงสะท้อนของเสียงข้างน้อย นี่คือประชาธิปไตยที่เราต้องการครับ
.
ขอพี่น้องประชาชนจับตาดูการแก้ไขกติกาการเลือกตั้งนี้ และร่วมพิจารณาด้วยนะครับ ว่าตกลงท่าทีแบบไหน ของพรรคไหน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นประชาธิปไตย และแบบไหนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการรักษาอำนาจของพรรคการเมืองครับ