ดัชนีความเชื่อมั่นปชช. 14 จังหวัดใต้ต่อรัฐบาล ‘ลดวูบ’ ชี้บริหารโควิดผิดพลาด

ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน 14 ภาคใต้ลด วิกฤตศรัทธารัฐบาล จากบริหารวัคซีนผิดพลาด สถานการณ์ระบาดโควิด หวั่นเปิดประเทศ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ผลการบริหารจัดการโควิดยากขึ้น “จี้” ให้ปรับ ครม.น้ำดีเข้า เตรียมรับมือ 4 โจทย์ใหญ่ รัฐบาลหาวัคซีนเร็วขึ้น

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือน มิ.ย.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือน มิ.ย. ปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ค. ได้แก่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า ปัจจัยลบที่สำคัญมาจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เดือน มิ.ย.ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพของครัวเรือน และความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีความยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ ทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และทำกิจกรรมนอกบ้านลดลงหรือไม่ได้ทำ”

“การท่องเที่ยว การช้อปปิ้ง การซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เกต การรับประทานอาหารที่ร้าน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบาง และยังอยู่ในช่วงระมัดระวังการใช้จ่าย นับแต่นี้จนถึงสิ้นปีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของภาคส่วนขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่เริ่มปูพรมฉีดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.64 หากอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ครัวเรือนและธุรกิจให้ปรับตัวดีขึ้น”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่สิ้นสุด ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ ส่งผลให้การออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงมีความจำเป็นเช่นกัน มาตรการภาครัฐที่กำลังจะทยอยออกมา โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ คาดว่าการเร่งกระจายฉีดวัคซีนจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเร่งฉีดได้ในปริมาณที่มากพอกับการสร้างความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจ

“ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่บวกในปีนี้และปีหน้า มาจากวัคซีนและการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แล้ว ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับ 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น อันทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนเปิดประเทศไทย “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox)” เป็นพื้นที่นำร่องในการต้อนรับนักเดินทางจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม และแสดงผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 ไม่มีการกักตัวแต่ต้องอยู่ในภูเก็ตเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศ

“ประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว มองว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จะเป็นจุดเริ่มของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น ในขณะที่ประชาชนบางส่วนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน มองว่าประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก การฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง บุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ และเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ของสถานพยาบาลเต็มเกือบหมดแล้ว การเปิดประเทศในช่วงนี้อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้การบริหารจัดการโควิด-19 เป็นไปได้ยากขึ้น”

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้ในหลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรกาของภาครัฐและข้อเสนอแนะ แผนการจัดหาวัคซีนของภาครัฐจาก 100 ล้านโดสในปี 64 เป็น 150 ล้านโดสในปี 65 นั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นว่าภาครัฐจะทำได้ตามแผน

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า ประชาชนมองว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ทำงานเชิงรับ และไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถที่จะจัดหาวัคซีนได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน เสนอให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องผ่านภาครัฐ และจัดประชุมกับองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ เพื่อขอความร่วมมือและความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการช่วยจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด และรวดเร็วที่สุด

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 2 ช่วงต้นปี 64 และระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายนหลังสงกรานต์ 64 จนถึงกลางปี 64 สภาพเศรษฐกิจยิ่งตกต่ำลงเรื่อย ๆ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ภาครัฐบริหารจัดการผิดพลาดเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนภาคใต้ที่เคยนิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ และมีความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนหนึ่งเกิดวิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาล และพลเอกประยุทธ์เป็นอย่างมาก ประชาชนอีกส่วนหนึ่งยังคงเชื่อมั่นในตัวพลเอกประยุทธ์ และเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีความซับซ้อน และยากต่อการควบคุมได้ สังเกตได้จากหลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของพลเอกประยุทธ์ ในการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกภาคส่วน โดยประชาชนเหล่านี้ยังให้กำลังใจพลเอกประยุทธ์ ให้อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ รวมถึงให้พลเอกประยุทธ์ ยืนหยัดที่จะทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป

“ผลการสำรวจในหลายสำนักโพล พบว่าความนิยมของรัฐบาล และความนิยมพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และ 2 ลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดหลายประการ อาทิ การบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาด การสื่อสารที่ล้มเหลว การจัดหาวัคซีน และฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นอย่างมาก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.วิวัฒน์เปิดเผยว่า อันดับสอง การดำเนินโครงการของภาครัฐในหลายโครงการ ขาดความโปร่งใส โดยประชาชนมองว่า มีการรับสินบน และทุจริตในหน้าที่ โดยการเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง เสนอให้พลเอกประยุทธ์ สั่งยกเลิกโครงการที่ไม่โปร่งใส ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ เลือกคณะรัฐมนตรีน้ำดีและมีความรู้ความสามารถ ตั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบโครงการของภาครัฐ สรรหาคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถจริง และทำงานเชิงรุกเข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อมูลในการตัดสินใจแก่นายกรัฐมนตรีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

“ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ และราคาสินค้า ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือ การเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่ม และจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้า”