“หมอมิ้ง” เล็คเชอร์ “ประยุทธ์” แก้โควิดระลอก 3 ต้องตรงเป้า-ทันการณ์ เร่งจัดหาวัคซีนให้พอ

วันที่ 16 เมษายน 2564 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นภายหลังการแถลงมาตรการด่วนในการรับมือโควิด-19 ระลอก 3 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาว่า

แก้โควิดด้วยเชิงรุก : ตรงเป้า ทันการณ์ อย่างมีแผน ด้วยวิทยาการทางการแพทย์

1. การระบาดของโรคโควิดระลอกนี้ แม้จะขยายตัวในไทยนี้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งหากการจัดการที่ดี ตรงเป้า ตรงปัญหา ทันการณ์ วิกฤตก็จะถูกกำจัด ลดความรุนแรง

2. ขอยกตัวอย่างในอังกฤษ ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับไทย ประชากร 68 ล้านคน แต่อังกฤษติดเชื้อแล้ว 4.38 ล้านคน ตาย 127,191 คนแล้ว เปรียบเทียบกับไทยที่มี 69.6 ล้านคน ติดเชื้อ 39038 คน ตาย 97 ราย เขาผ่านพ้นวิกฤตนี้อย่างไร สถิติที่เห็นชัดคือการจัดการด้าน วัคซีน ที่ฉีดให้ประชาชนทั่วถึง ณ ปัจจุบันครอบคลุมแล้ว 32 ล้านคน ปรากฏว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังภาพแสดง

3. นอกจากนี้ จากบทความเมื่อ 14 เมษายน 2564 เล่าถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองของคุณ นพพร วงศ์อนันต์ บรรณาธิการ BBC ไทย ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด ในนครลอนดอนเมื่อปลายเดือนธันวาคม ได้สะท้อน บทเรียนที่น่าศึกษาแก่รัฐบาลไทยเพื่อวางแผนล่วงหน้าในการจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของการที่รัฐให้บริการ การตรวจเชื้อทั้งชนืด rapid self test ตรวจเองที่บ้าน ส่งทางไปรษณีย์ หรือ เก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการตรวจ ตลอดจนสถานที่ให้บริการตรวจใกล้บ้าน

ทั้งนี้ยังให้บริการตรวจในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจผู้ติดเชื้อให้เร็ว กำจัดการแพร่ระบาด ให้ตรงเป้าหมายไม่ต้องใช้มาตรการเหวี่ยงแห ทำให้ชีวิตเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก มาตรการการกักเก็บตัวในบ้านตัวเอง ลดภาระบุคลากร และค่าใช้จ่ายของรัฐ ทั้งยังสร้างความปกติสุขแก่ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ทำงานดำรงชีวิตกึ่งปกติจากบ้านได้ ชีวิตเศรษฐกิจดำเนินต่อได้อย่างระมัดระวัง

4. ดังนั้นเครื่องมือควบคุมโรคที่ได้ผล ทั้งวัคซีนที่ต้องมีจำนวนมากเพียงพอ มีแผนล่วงหน้าว่าจะจัดสรรให้ใครฉีด ฉีดให้ใคร นัดหมายอย่างไรด้วย’เชิงรุก’ต้องชัดเจนแล้วแต่เนิ่นๆ และ จัดหา rapid test kit ตรวจหาโรคมาให้เพียงพอ ทั้งนี้ งบประมาณที่เตรียมไว้ของเราก็มีแล้ว ใช้ไปไม่ถึง 1.4 หมื่น ล้านบาท จาก 5 หมื่นล้าน ในเบื้องต้น ไม่รวมงบอื่นๆ ที่หวังให้หน่วยราชการคิดสร้างงานไม่ตรงเป้าอีก 4 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอในการจัดการเบื้องต้นเพราะขนาดปัญหา หรือจำนวนผู้ติดเชื้อยังห่างไกลของอังกฤษมาก

5. ที่สำคัญที่สุด คือ มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำ บ่อยๆ รักษาระยะห่าง (social distancing) , work from home หลีกเลี่ยงกิจกรรมชุมนุมคนหมู่มากโดยไม่จำเป็น เป็นการลงทุนที่ต่ำสุดในการป้องกันจากการติดต่อของโรคได้

6. หวังว่า รัฐบาลใช้การจัดการให้ตรงเป้า ใช้วิทยาการการแพทย์ที่มีอยู่แล้วให้เป็น จัดหาวัคซีนเร่งด่วน หลากหลายแหล่ง ปริมาณมากพอ บริหารการฉีดให้ครอบคลุมประชากรโดยเร็วที่สุด จัดหาการตรวจ test kit ให้พอ ใช้ทรัพยากรและมาตรการที่แม่นยำ ก็น่าจะควบคุมโรคได้ ไม่ให้บานปลายทับถมขยายตัวปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นยากยิ่งอยู่แล้วเข้าไปอีก และที่สำคัญต้องสื่อสารที่ชัดเจน แม่นยำ มีเหตุมีผล มีแผน มีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่ติดตามด้วยการปฏิบัติอย่างได้ผล จึงจะฟื้นความมั่นใจให้สังคม เศรษฐกิจจึงจะฟื้นตัวได้