ย้อนแย้ง? บัวแก้วยันไม่จริง ไทยผลักดันกะเหรี่ยงหนีภัยทหารพม่ากลับประเทศ

วันที่ 30 มีนาคม 2564 สถานการณ์การเมืองพม่าที่รุนแรงจากการปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงโดยรัฐบาลเผด็จการทหารและส่งผลไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกมาตอบโต้ทหารพม่าที่สังหารประชาชนอย่างเช่นกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ที่เปิดปฏิบัติการทางทหารโจมตีค่ายของกองทัพพม่าจนแตก และนำไปสู่การโต้กลับของกองทัพพม่าด้วยการส่งเครื่องบินรบโจมตีหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนไทย ทำให้เกิดคลื่นชาวกะเหรี่ยง 2,000 คนหนีภัยสู้รบเข้ามายังไทย ตามที่มีรายงานทั้งสื่อไทยและต่างประเทศเมื่อวานนี้ และรายงานว่า ทหารไทยตามแนวชายแดนปฏิเสธการข้ามแดนและผลักชาวกะเหรี่ยงอพยพออกจากเขตแดนไทย ทำให้กว่าพันชีวิตติดค้างอยู่แนวชายแดน

ล่าสุด นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวโดยยืนยันว่า ฝ่ายไทยได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมาและบริเวณแนวชายแดนอย่างใกล้ชิดมาระยะหนึ่งแล้ว และได้มีการประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่อง สำหรับนโยบายต่อกลุ่มผู้หลบหนีเข้ามาในไทยนั้น ขอให้มั่นใจว่า ไทยมีประสบการณ์ในการรับมือกับกลุ่มผู้อพยพเข้าไทยด้วยเหตุผลต่างๆ จากประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างยาวนาน และที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ที่หนีภัยการสู้รบหรือสถานการณ์ความไม่สงบจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามหลักมนุษยธรรมและหลักสากลระหว่างประเทศมาโดยตลอด
นายธานีกล่าวว่า สำหรับความห่วงกังวลหากจะมีผู้หนีภัยข้ามมายังฝั่งไทยเป็นจำนวนมากจากสถานการณ์ในขณะนี้นั้น เชื่อว่าฝ่ายความมั่งคงและจังหวัดตามแนวชายแดนได้มีการเตรียมพร้อม ทั้งแนวปฏิบัติและสถานที่รองรับไว้แล้ว รวมทั้งมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นแนวปฏิบัติที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงที่เริ่มการแพร่ระบาด
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า เกี่ยวกับรายงานข่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งอ้างว่า ชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงที่หนีภัยความไม่สงบมายังประเทศไทย ถูกบังคับส่งกลับไปยังเมียนมา ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยรายงานข่าวดังกล่าว อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ไม่เป็นทางการเพียงช่องทางเดียว โดยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวของทางการในพื้นที่ ซึ่งต่างยืนยันว่าข่าวการผลักดันส่งชาวเมียนมากลับประเทศนั้นไม่เป็นความจริง แต่ฝ่ายไทยยังคงยืนยันที่จะให้การดูแลผู้ที่ข้ามชายแดนมาอยู่ฝั่งไทยแล้ว และยังคงประเมินสถานการณ์และความต้องการในพื้นที่ต่อไป
ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์ส ได้รายงานเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงอพยพจากการสู้รบว่า ทางการไทยปฏิเสธข้อมูลขององค์กรสิทธิมนุษยชนว่า มีผู้ลี้ภัยมากกว่า 2,000 คนถูกเจ้าหน้าที่ไทยผลักกลับประเทศ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไทยให้ข้อมูลว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ให้กองทัพปิดกั้นพวกเขาที่ชายแดนและปฏิเสธการเข้าถึงกลุ่มบรรเทาทุกข์จากภายนอก
คำแถลงตอบโต้ของกระทรวงการต่างประเทศนี้ ได้ออกมาสวนทางกับข่าวและภาพที่มีการเผยแพร่ จากสื่อของไทยและต่างประเทศ อย่าง ทวิตเตอร์ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู ได้ทวิตข้อความระบุว่า “KNU ไม่สบายใจยิ่งหลังทราบข่าวทางจนท.ไทยในพื้นที่ (แม่ฮ่องสอน) ขอให้ปชช.กลับไปค่าย IDP ที่ Ei Thu Hta ที่โดนโจมตีทางอากาศโดยกองทัพพม่าในหลายวันที่ผ่านมา เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยรับพวกเขาไว้บนหลักแห่งการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม”

หรือภาพในทวิตเตอร์ของประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวของข่าวสด ที่มีภาพกำลังทหารไทยวางลวดหนามหีบเพลงเพื่อสกัดไม่ให้ชาวกะเหรี่ยงหนีการโจมตีทางอากาศพม่า ข้ามมาฝั่งไทยทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

นอกจากนี้ ในเพจ The Reporter ได้มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ ชาวบ้านจากรัฐกะเหรี่ยง จำนวน 76 คน ได้อพยพมายังฝั่งไทย ก่อนถึงบ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มี 16 ครอบครัว ชาย 46 คน หญิง 30 คน เป็นเด็ก 15 คน ชาย 8 คน หญิง 7 คน โดยข้ามฝั่งแม่น้ำสาละวิน มาถึงเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันที่ 29 มี.ค.64 โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน และผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นไปตรวจสอบ โดยให้พักอยู่บริเวรจุดพักริมน้ำสาละวิน และมี อสม.เข้าไปคัดกรองโควิด-19 และจัดโซนที่พักอาศัยที่ปลอดภัยให้ไว้ชั่วคราว ก่อนมีนโยบายว่าดำเนินการอย่างไร

ล่าสุด The Reporter รายงานเมื่อเวลา 11.00 น. เรือพยาบาลที่มีธงพยาบาลอย่างชัดเจนถูกเจ้าหน้าที่ไทยผลักดันไม่ให้ขึ้นที่ท่าแม่สามแล่บ ต้องแล่นเรือต่อไปตามแม่น้ำสาละวิน แต่เป็นไปได้ว่าอาจไปขึ้นที่ท่าอื่นแทน อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจะได้ขึ้นฝั่งไทยหรือไม่ได้ขึ้นอีก