สำรวจเทรนด์ “ทีมมช” ดราม่าบุกยึดงานศิลปะนศ.ไปทิ้ง และวาทะ “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร”

กลายเป็นประเด็นไวรัลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากบนโลกโซเชียลแล้ว ต่อกรณีรื้อถอนและบุกยึดผลงานศิลปะของนักศึกษาโดยไม่ได้รับความยินยอมและไลฟ์อาจารย์ปกป้องนักศึกษาและทวงถามสำนึกความเป็นศิลปินของอาจารย์คณะเดียวกันที่เป็นถึงผู้บริหารกระทำการรื้อถอนอย่างดุเดือด ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เมื่อไลฟ์ของเพจประชาคมมอชอ ได้เผยแพร่ภาพบรรยายบริเวณส่วนจัดทำผลงานของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ได้มีเจ้าหน้าที่และผู้บริหารคณะ ซึ่งภายหลังทราบต่อมาคือ คณบดีและ 2 รองคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำเอาผลงานศิลปะของนักศึกษาซึ่งเป็นผลงานที่นำเสนอเพื่อจบการศึกษา เอาไปใส่ถุงดำและขนขึ้นท้ายรถกระบะ

แม้จะไม่ทราบว่ามีผลงานชิ้นไหนบ้างถูกยัดถุงนำไปทิ้ง แต่มีผลงานที่ถูกพูดถึงและสันนิษฐานว่าเป็นผลงานที่ถูกนำไปทิ้ง คือ หุ่นกระดาษที่ทำเหมือนศพถูกมัด ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษา ที่นำเสนอศพที่ถูกฆาตกรรมคว้านท้องยัดแท่งปูนถ่วงน้ำโขงของสหายภูชนะและสหายกาสะลอง

จากนั้น ได้เกิดการถกเถียงอย่างหนักระหว่างนักศึกษาเจ้าของผลงานพร้อมด้วยกลุ่มเพื่อน กับผู้บริหารคณะและเจ้าหน้าที่ที่ทำการรื้อผลงานเพื่อจะเอาไปทิ้ง และขณะที่รถยนต์ของคณบดีจะเคลื่อนตัว ได้มีนักศึกษาที่ไม่ยอมให้เอาผลงานไปทิ้ง ได้ตัดสินใจนอนขวางรถยนต์ เพื่อไม่ให้รถยนต์ที่ขนถุงใส่ผลงานนักศึกษาเอาไปทิิ้งได้

ต่อมา นักศึกษาได้ถกเถียงและตั้งคำถามการกระทำของผู้บริหาร แต่แล้วคณบดีได้ตัดสินใจเดินออกจากพื้นที่ จนเหลือแต่รองคณบดีและบุคลากรที่ยืนเผชิญการตั้งคำถามจากนักศึกษา

แต่แล้ว ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ เดินเข้ามาทวงถามข้อเท็จจริงต่อคณะผู้บริหาร และเรียกร้องให้มีการชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมปะทะคารมกับบรรดาผู้บริหาร โดยการสอนหลักการเป็นอาจารย์และศิลปิน จนเกิดวรรคทองที่ชาวโซเชียลออกมาหยิบยกเพื่อเชิดชูการกระทำอันกล้าหาญของอ.ทัศนัย

ด้านโลกโซเชียลมีเดีย ได้ทำการสืบเสาะหาข้อมูลรองคณบดีคู่กรณีที่ร่วมกระทำการรื้อถอนผลงานนักศึกษา พบว่าใช้ภาพโปรไฟล์ที่สนับสนุนแนวคิดขวาจัด จนมีการแสดงความคิดเห็นถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของอาจารย์ท่านดังกล่าว

โดยเพจ Design for Life ออกแบบเพื่อชีวิต ได้บรรยายคำพูดและบรรยากาศในไลฟ์ช่วงดังกล่าวที่กลายเป็นช่วงเวลาที่ชาวโซเชียลได้รู้จักตัวตนของอ.ทัศนัยขึ้น

“มีอะไรเกิดขึ้นคร้าบ…ไหนเชิญคณบดีหน่อยคร้าบ”
หลังจากนั้นคือความอลังการ โคตรรรมัน เมื่อทัศนัยร่างออกรบ อวตารลงมาปราบมารศิลปะ แถมกวนตีนพวกอาจารย์คณะนี้ที่ขึ้นชื่อว่านิยมโซตัสรุ่นพี่รรุ่นน้อง ด้วยการชี้หน้าด่าว่า เรียกพี่ทัศ อย่ามาปีนเกลียว 555
“รักเคารพศิลปะมั๊ย รักเคารพในมนุษย์มั๊ย
ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใครและไม่เป็นขี้ข้าใคร!”
พร้อมชี้หน้ารองคณบดี
“ทำงานศิลปะอยู่หรือเปล่าทุกวันนี้ น่าอายมั๊ย
ทำไมกระจอกตั้งแต่เด็กจนโตพวกมึงเนี่ย! ขู่เข็ญนักศึกษากี่ทีแล้ว!”
บรรดาอาจารย์และผู้บริหารเสื้อเหลืองวงแตกกระเจิง
ตอบไม่ได้ ไม่กล้าพูดต่อหน้ากล้อง พูดวกไปวนมา
และพยายามเดินหนีแกจนจะวนรอบคณะ
แต่ อ.ทัศนัย ไม่ยอมเดินตามชี้หน้าจี้
“อย่าปอด!” “ไหน บอกตำแหน่งมา รองคณบดีฝ่ายไหน?”
“เป็นรองคณบดี เป็นอาจารย์ เป็นศิลปิน ทำตัวแบบนี้เหรอ?”
“อย่าทำแบบนี้อีก ศิลปะอับอายมามากพอแล้ว
เพราะไอ้คนที่มันไม่รักเสรีภาพแบบนี้!!!”

บทสนทนาอันลือลั่นดังกล่าว ได้ทำให้ชาวโซเชียล ได้หยิบวรรคทองของทัศนัยอย่าง “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร ไม่เป็นขี้ข้าใคร” มานำเสนอในรูปแบบมีมหรือภาพเพื่อแสดงความชื่นชมและยังมีการเข้าไปสืบค้นเรื่องราวและตัวตนของอ.ทัศนัย ที่ออกมาปกป้องลูกศิษย์ของตัวเอง

ล่าสุด อ.ทัศนัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหลังเกิดเรื่องราวที่ร้อนแรงขึ้น โดยระบุว่า สวัสดีชาวโลก
ผมขอขอบคุณทุกคำชื่นชม ทุกความห่วงใย และทุกดวงใจแห่งเสรีภาพ ที่มอบให้แก่กัน

เยาวชนและอนาคตของเราอีกจำนวนมากถูกตั้งข้อหา จำนวนหนึ่งถูกคุมขัง จำนวนมากถูกคุกคาม
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะเกื้อหนุนกำลังกาย กำลังใจและสติปัญญา ช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นด้วย ด้วยเสรีภาพและความนับถือ

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นักศึกษาวิจิตรศิลป์เจ้าของผลงานและกลุ่มเพื่อนได้ดำเนินการแจ้งความกับสภ.ภูพิงคราชนิเวศน์

ในเวลาต่อมา สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ตั้งข้อซักถามต่อเหตุการณ์รื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา โดยจดหมายเปิดผนึก ระบุใจความว่า เรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากกรณีที่มีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการเก็บรื้อถอนงานศิลปะของนักศึกษา ในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 น. ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พฤติการณ์คือมีการเก็บและรื้อถอนผลงานศิลปะของนักศึกษาลงถุงขยะทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหาย โดยมิได้แจ้งหรือมีหนังสือคำชี้แจงใดๆ อันอาจเป็นการละเมิดงานศิลปะของนักศึกษาและขัดต่อประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยเรื่องจรรยาของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ข้อ 9 ที่กำหนดว่า อาจารย์พึงรักษาความสัมพันธ์กับศิษย์อย่างกัลยาณมิตร เป็นที่พึ่งแก่ศิษย์ สนับสนุนให้ศิษย์มีความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่เสมอ

ทั้งนี้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะองค์กรที่เป็นตัวแทนสะท้อนเสียงของนักศึกษาขอตั้งข้อซักถามต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และขอให้คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ออกมาชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณะ พร้อมกันนี้ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชี้แจงต่อนักศึกษาโดยเร็วที่สุด เนื่องด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบกับทรัพย์สินของนักศึกษา และเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภานักศึกษาในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สุดท้ายนี้สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะพิจารณาและเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อชี้แจงต่อนักศึกษาโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ เพจประชาคมมอชอ ได้เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาระบุว่า

ถึง เพื่อน พี่ น้อง ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรียน คณบดีคณะวิจิตรศิลป์และคณะผู้บริหาร

สืบเนื่องจากเหตุการณ์คืนวันที่ 21 มีนาคม 2564 ต่อเนื่องถึงวันที่ 22 มีนาคม 2564 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อคณะวิจิตรศิลป์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างยอมรับไม่ได้ พื้นที่ที่ปลอดภัยต่อการแสดงความคิดและการสร้างสรรค์ได้ถูกคุกคามทั้งจากบุคคลภายนอก และภายในคณะวิจิตรศิลป์เอง จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วทั้งประเทศ สร้างความขุ่นเคืองใจแก่นักศึกษาปัจจุบันต่อการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ และสร้างความอับอายแก่ศิษย์เก่าที่ได้ประทับตราคณะวิจิตรศิลป์ไว้บนวุฒิการศึกษา

การละเลยต่อหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพทางความคิดของต้นกล้าศิลปะ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของอาจารย์ศิลปะทุกศาสตร์วิชาถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่นักศึกษาได้รับจากสถาบันศิลปะที่พวกเขาไว้ใจ สีหน้าและอารมณ์ที่ถูกแสดงออกจากผู้บริหารสูงสุดที่ควรวางสถานะตนเองให้อยู่ในฐานะอันเป็นที่น่าเคารพจากนักศึกษาจากทุกสาขาวิชา กลับแสดงออกซึ่งสีหน้า อารมณ์ วาจาที่ขาดซึ่งวุฒิภาวะที่จะเป็นผู้นำองค์กรแห่งนี้ต่อไป

หลังจากเหตุการณ์อัปยศที่เกิดขึ้นจากการขาดภาวะการเป็นผู้นำองค์กรที่ดีถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน จึงเกิดความไม่สบายใจและไม่พอใจของนักศึกษาต่อการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ จึงขอยื่นข้อเรียกร้องถึงผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์อันได้แก่

รศ. อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ. ปกรณ์ภัทร์ จันทะไข่สร รองคณบดีฝ่ายบริหาร

ผศ. ดร. พงศ์ศิริ คิดดี รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา

และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564

โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 6 ข้อ

1. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์การขนย้าย รื้นถอน และพยายามยึดผลงานศิลปะอันเป็นทรัพย์สินของนักศึกษา

1.1 แต่งตั้งคณะกรรมการจากทั้ง อาจารย์ นักศึกษา บุคลากร และผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์.

1.2 เผยแพร่บันทึกการประชุมผ่านเพจคณะวิจิตรศิลป์

2. แถลงขอโทษนักศึกษาต่อสื่อมวลชน

3. ชี้แจงขอบเขตการเข้าใช้งานพื้นที่ปฏิบัติการ ภายในคณะวิจิตรศิลป์ทั้งของนักศึกษาและอาจารย์

4. ชี้แจงการเข้าใช้งานพื้นที่ปฏิบัติการภายในคณะวิจิตรศิลป์ของอาจารย์ ที่นอกเหนือจากประโยชน์ทางวิชาการของนักศึกษา

5. ชี้แจงงบประมาณคณะวิจิตรศิลป์ทั้งหมดนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่ง โดยวิธีการติดประกาศโดยรอบคณะวิจิตรศิลป์ภายใน 3 วันเป็นระยะเวลา 30 วัน

6. พิจารณาตนเองและยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งการบริหาร

จึงขอความร่วมมือและเชิญชวนเพื่อน พี่ น้อง ศิษย์เก่าและปัจจุบัน มาร่วมกันสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ข้างต้น เพื่อรับการพิจารณาตามข้อเรียกร้องต่อไป

เพราะศิลปะไม่เคยเป็นนายใคร หรือขี้ข้าใคร

นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และยังคงมีความเห็นออกมาต่อเรื่องนี้ผ่าน แฮชแท็ก #ทีมมช จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์และสนับสนุนจุดยืนของอ.ทัศนัยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา คณะวิจิตรศิลป์ มช.ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ตามที่มีกลุ่มบุคคลได้เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณคณะวิจิตรศิลป์ และได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์นั้น

คณะวิจิตรศิลป์ขอชี้แจงว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. คณะฯ ได้เข้าเตรียมพื้นที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของคณะฯ เพื่อเตรียมการจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ทั้งของคณะฯ และสถาบันการศึกษาอื่น ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2564

จากการเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ได้พบวัสดุอุปกรณ์ บริเวณลานด้านหลังอาคารหอศิลปวัฒนธรรม จากการสอบถามนักศึกษาซึ่งอยู่ในบริเวณนั้น แจ้งว่า ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด และไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ

คณะฯ ได้ทำการตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าว พบวัสดุบางรายการที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย (ธงชาติไทยที่ถูกดัดแปลงและมีข้อความที่ไม่เหมาะสม)

ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อนักศึกษาและคณาจารย์ของคณะฯ โดยรวม จึงได้เก็บรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อรอให้มารับคืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หลังทางคณะวิจิตรศิลป์เผยแพร่แถลงการณ์ออกไป ก็มีเสียงสะท้อนทั้งให้กำลังใจจากฝ่ายสนับสนุนผู้บริหาร แต่ฝ่ายที่สนับสนุนนักศึกษาและอ.ทัศนัยมองว่าแถลงการณ์นี้ เป็นการแก้เกี้ยวของฝ่ายบริหารคณะที่ต้องการกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น