ผลทดสอบยัน วัคซีนต้านโควิด ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ปลอดภัย พบป้องกันป่วยรุนแรงในสหรัฐได้ 100%

FILE PHOTO: A vial of Astra Zeneca coronavirus vaccine is seen at a vaccination centre in Westfield Stratford City shopping centre, amid the outbreak of coronavirus disease (COVID-19), in London, Britain, February 18, 2021. REUTERS/Henry Nicholls/File Photo

วันที่ 22 มีนาคม 2564 บีบีซีรายงานว่า ผลการทดสอบความปลอดภัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ของบริษัทสัญชาติอังกฤษ “แอสตร้าเซนเนก้า” ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง

ผลการทดสอบดังกล่าวมาจากการทดสอบระยะที่สาม (เฟสสุดท้าย) ร่วมดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จากอังกฤษ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ สถาบันการศึกษาด้านการวิจัยที่มีชื่อเสียงของรัฐนิวยอร์ก มีขนาดกลุ่มทดลอง 32,000 คน ทั้งชาวอเมริกัน ชิลี และเปรู

การทดสอบพบว่า วัคซีนชนิดนี้จากแอสตร้าเซนเนก้าสามารถหยุดยั้งไม่ให้ผู้ได้รับเชื้อมีอาการป่วยได้ร้อยละ 79 และป้องกันอาการป่วยขั้นรุนแรงได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม โดยไม่พบอาการข้างเคียงรวมถึงการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งกำลังเป็นความกังวลของรัฐบาลหลายประเทศขณะนี้

รายงานระบุว่า ผลการทดสอบในสหรัฐฯ ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้ารอมานานเนื่องมาจากกรณีการพบผู้ได้รับวัคซีนบางคนในยุโรปที่เกิดลิ่มเลือด ในจำนวนนี้ เสียชีวิต 1 ราย ทำให้หลายชาติยุโรปและเอเชียสั่งระงับการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย แต่ล่าสุด เริ่มทยอยนำกลับมาใช้ใหม่แล้ว หลังการสอบสวนยังไม่พบความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างวัคซีนกับภาวะการเกิดลิ่มเลือด

ผลการทดสอบข้างต้นยังย้ำถึงประสิทธิภาพของวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปด้วย เนื่องจากกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ารับการทดสอบนี้มีอายุมากกว่า 65 ปี ถึงหนึ่งในห้า ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ พบว่ามีประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า

ศาสตราจารย์แอนดรูว พอลลาร์ด จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด หนึ่งในผู้ดำเนินการทดสอบ กล่าวว่า ผลลัพธ์นี้เป็นข่าวดี เพราะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มประชากรชาติพันธุ์อื่น และมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับผลการทดสอบของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ศ.ซาราห์ กิลเบิร์ด ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีน กล่าวว่า วัคซีนสามารถมีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้ค่อนข้างสูง ในผู้คนหลากหลายอายุและชาติพันธุ์ ตนหวังว่าผลการศึกษานี้จะทำให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการนำไปใช้แพร่หลายมากขึ้น เพื่อยุติการระบาดใหญ่ทั่วโลก

“วัคซีนนี้จะช่วยชีวิตผู้คนอีกมาก จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเร่งนำไปใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อปกป้องผู้คนให้ได้มากที่สุดค่ะ” ศ.กิลเบิร์ด ระบุ

ผลลัพธ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะทำให้สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ รับรองให้นำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาใช้เป็นกรณีฉุกเฉินได้ เช่นเดียวกันกับ ไฟเซอร์/บิออนเทค โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน