นักวิชาการรัฐศาสตร์ เห็นค้านมติ สสร.มาจากเลือกตั้งแบ่งเขตคนเดียว พร้อมเสนอทางเหมาะกว่า

วันที่ 26 ก.พ. จากกรณี การลงมติ ของสมาชิกรัฐสภา เสียงข้างมาก 379 เสียงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.ที่ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เห็นด้วย 237 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ต่อมามีการถามมติต่อไปว่าจะใช้การแก้ไขแบบใด  โดยเสียงข้างมาก 395 เสียง เห็นด้วยกับระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต่อ 18 เสียง ทั้งนี้มีผู้งดออกเสียงมากถึง 232 เสียง ขณะที่ฝั่งส.ว. พยายามนำเสนอให้มีส.ส.ร.ที่มาจากการแต่งตั้ง

มีความเห็นจาก รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนข้อความ แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิด ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคนเดียว 200 เขต  ระบุว่า

ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระ 2 ที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คนมาจากเลือกตั้ง แบ่งเขตละ 1 คน 200 เขต โดย ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ร. ได้ 1 คน

ระบบนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครที่มีหัวคะแนนเชื่อมโยงกับ ส.ส. และนักการเมือง เอื้อต่อผู้มีชื่อเสียง มีอิทธิพล หรือมีฐานคะแนนเสียงอยู่แล้วในพื้นที่ เปิดโอกาสให้กลไกรัฐระดมสรรพกำลังเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย

ที่สำคัญ เป็นระบบเลือกตั้งที่ตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ หลากหลาย หรือ คนกลุ่มน้อย มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้เลือกตั้งมีเสียงเดียว และผู้ชนะมีเพียงคนเดียวที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด

ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกว่า ในการเลือก สสร. ครั้งนี้ คือ ระบบเสียงข้างมากธรรมดา หนึ่งเขตหลายคน คะแนนเสียงเดียว ถ่ายโอนคะแนนไม่ได้ (Single Non-Transferable Vote–SNTV) เป็นระบบเลือกตั้งที่คนไทยเคยใช้มาก่อนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543

ระบบเลือกตั้ง SNTV หนึ่งเขตเลือกตั้งมีตัวแทนได้มากกว่า 1 คน แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น ผู้ชนะการเลือกตั้งคือผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดตามลำดับลงมา เท่าจำนวนผู้แทนที่เขตเลือกตั้งนั้นพึงมี

เช่น ในเขตที่มีผู้แทนได้ 5 คน ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดอันดับ 1 ถึงอันดับ 5 จะเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ระบบเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาแบบ SNTV นี้ จะเป็นหลักประกันให้คนกลุ่มน้อยสามารถเข้ามาเป็นตัวแทนในเขตนั้นๆ ได้ เพราะคะแนนเสียงประมาณ 1 ใน 5 ก็อาจทำให้ผู้สมัครชนะการเลือกตั้งได้ ไม่ต้องอาศัยชื่อเสียงของพรรคหรือระบบพรรคที่เข้มแข็งนอกจากนั้น

ยังเป็นระบบที่ผู้เลือกตั้งเข้าใจง่าย เพราะเลือกลงคะแนนได้ 1 เสียง ให้กับผู้สมัครที่ชอบที่สุดเพียงคนเดียว

ภาพประกอบ ผลเลือกตั้ง สว. พ.ศ. 2543 นครศรีธรรมราช 5. กทม. 18 คน เชียงราย 4 นครราชสีมา 8 คน บุรีรัมย์ 5 คน