ลุงป้อม ห่วงชาวบ้าน เดินหน้า ฟื้นฟูคลองแสนแสบ สั่งแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำเพื่อประชาชน

วันนี้ (28 ม.ค. 64) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กระทรวงมหาดไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นต้น พร้อม VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประปานครหลวง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์การจัดการน้ำเสีย จังหวัดฉะเชิงเทรา

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้เร่งรัดฟื้นฟูพัฒนาคลองสำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งคลองแสนแสบเป็นหนึ่งในคลองเป้าหมาย จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบชุดนี้ขึ้นมาดำเนินการ กำหนดมาตรการ กรอบนโยบาย เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งมีการป้องกันปราบปรามการกระทำใดๆ อันจะเป็นการบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ กำกับ อำนวยการ บริหารจัดการน้ำ และจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมคลองแสนแสบ เพื่อให้หน่วยงานไปดำเนินการ รวมถึงติดตามประเมินผลการดำเนินการฯ โดยมีผู้แทนจาก 24 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ บูรณาการการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศที่อยู่ในเกณฑ์ดีได้อีกครั้ง

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมนัดแรกวันนี้ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครที่เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ โดยเสนอแผนงาน/โครงการ ให้สอดคล้องตามกรอบแนวทางที่กำหนด จำแนกเป็น แผนงานระยะเร่งด่วนปี 2564 โดยมีแผนงานตามเป้าประสงค์ของกรอบดำเนินงาน ดังนี้ 1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน โดยมี กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนคือ กรมธนารักษ์และกรมเจ้าท่า มีแผนงาน ได้แก่ การขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ จำนวน 8 ท่า การจัดหาเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบริหารจัดการเดินเรือ 2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ โดยมี กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน องค์การจัดการน้ำเสีย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีแผนงาน ได้แก่ การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ริมฝั่งคลอง การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง และการพัฒนา/ขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ 3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ โดยมี กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ และองค์การจัดการน้ำเสีย เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนคือ กรมชลประทาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา มีแผนงาน ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลอง การก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย 3 โครงการ และการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดใหญ่ 1 โครงการ 4.การป้องกันการบุกรุกทรัพยากรในคลองแสนแสบ โดยมี กรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนคือ กระทรวงมหาดไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และกรมเจ้าท่า มีแผนงาน ได้แก่ การสำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา และ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ โดยมี กรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนคือ จังหวัดฉะเชิงเทรา และกรมเจ้าท่า มีแผนงาน ได้แก่ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ 1 โครงการ และการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ 1 โครงการ

“ในส่วนของแผนงานระยะกลาง-ระยะยาว ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป มีกรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลัก โดยมีแผนงาน อาทิ โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียดอนเมือง โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียลาดพร้าว โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลองบางขนากและคลองสาขา (เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ 9 แผนหลักบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา) โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองแสนแสบจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงบริเวณประตูระบายน้ำคลองตัน และโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบจากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี ถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้ สทนช. และกรุงเทพมหานคร รวบรวมแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทำการวิเคราะห์และประมวลผลสัมฤทธิ์ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ เสนอให้อนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป”