“จาตุรนต์” กางข้อมูลไขข้อสงสัย ทำไมเศรษฐกิจไทยถดถอยสุดในอาเซียน

วันที่ 27 มกราคม 2564 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยที่มีคำถามมากมายโดยเฉพาะหลายปีที่ผ่านมาทำไมเศรษฐกิจไทยค่อยๆถดถอยลงว่า

พบข้อมูลน่าตกใจ สาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยถดถอยกว่าใครในอาเซียน

เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างมาก แต่ในปี 2563 การส่งออกเติบโต -6 % (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) ส่วนรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย หายไปถึง 2.35 ล้านล้านบาท โดยในส่วนของตลาดต่างประเทศหายไปถึงราว 1.69 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากททท.) ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่หวังกันว่าจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้พอสมควรคือ “การใช้จ่ายจากภาครัฐ”

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 เป็นวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พค. 2563 กระทรวงการคลังเริ่มออกพันธบัตรกู้เงินเป็นครั้งแรกและทยอยกู้เงินอีกหลายครั้ง รวมทั้งสิ้นถึงครั้งล่าสุดเมื่อ 30 กันยายน 2563 ได้กู้เงินไปแล้วเป็นเงิน 373,761 ล้านบาท

  • จากเอกสารรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 พศ. 2563 ประจำปีงบประมาณ 2563 จัดทำโดยสำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง ที่จะใช้เป็นเอกสารในการประชุมสภาในวันที่ 28 มกราคมนี้ พบว่ามีข้อมูลเกี่ยวการใช้จ่ายเงินตามแผนงานต่างๆ ทั้งหมด 3 แผน มีที่น่าสนใจหรืออาจต้องใช้คำว่าน่าตกใจมากดังนี้

 

>> แผนงานที่ 1 คือแแผนงานทางการแพทย์และสาธารณสุขฯ ยังไม่มีการเบิกจ่าย หรือ “เบิกจ่ายเป็น 0”

ความไม่คืบหน้าของแผนนี้น่าตกใจครับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสิ้น เช่นโครงการพัฒนาศักยภาพของการผลิตและการควบคุมคุณภาพของวัคซีนฯ การพัฒนาสถานพยาบาลและโครงการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในการป้องกันและการตรวจโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น

>> แผนงานที่ 2 คือแผนงานเยียวยาฯ เบิกจ่ายไปแล้ว53% ซึ่งแผนงานนี้มีการจ่ายไปมากที่สุด น่าจะเป็นเพราะทำได้ง่ายคือหาทางจ่ายให้ถึงมือผู้รับเท่านั้น (ซึ่งเวลาทำจริงๆก็ทุลักทุเลมากทีเดียว)

>> แผนงานที่ 3 คือแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ มีการเบิกจ่ายเพียง 0.48 % เท่านั้น ถ้าคิดจากวงเงินรวม

โดยรวมแล้ว ในปีงบประมาณ 2563 วงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 29.8% จากวงเงินรวม เกือบทั้งหมดอยู่ในแผนเยียวยา ส่วนแผนด้านสาธารณสุขฯ ยังไม่มีการเบิกจ่าย และแผนฟื้นฟูฯมีการเบิกจ่ายไปเพียง 1,923.32 ล้านบาทเท่านั้น

ผ่านไปอีก 3 เดือน สถานการณ์การเบิกจ่ายยังไม่กระเตื้องขึ้น”

  • ล่าสุดถึงวันที่ 19 มค. 64 ข้อมูลจากสศช. มีการเบิกจ่ายเงินเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ในแผนสำคัญก็ยังเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ดี

 

จากวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน มีวงเงินอนุมัติแล้ว 711,606.6362 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 371,032.7785 ล้านบาท

>> รายจ่ายส่วนใหญ่อยู่ในแผนงานเยียวยา เบิกจ่ายเป็นเงิน 322,913.6143 ล้านบาท คิดเป็น 57.79 %

>> แผนงานด้านสาธารณสุขยังคงจ่ายไปเพียง 7.92 % เป็น โครงการเกี่ยวกับบุคลากร ส่วนโครงการเกี่ยวกับวัคซีนหรือสถานพยาบาลมีการเบิกจ่ายเพียง 0-2 ล้านบาทเท่านั้น

>> แผนการด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจมีการใช้จ่ายไป 46,558.2382 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นการแจกจ่ายแก่ครัวเรือน ส่วนแผนงานพลิกฟื้นเศรษฐกิจและแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนจ่ายไป 0-3 ล้านบาทเท่านั้น

เท่ากับว่าขออำนาจกู้ไป 1 ล้านล้านเพิ่งเบิกจ่ายไป 37 % ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพียงแจกจ่ายเยียวยา แต่ที่เป็นโครงการทั้งด้านสาธารณสุขและฟื้นฟูเศรษฐกิจใช้น้อยมาก เกือบเรียกได้ว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

เห็นข้อมูลอย่างนี้ ก็คงหมดข้อสงสัยแล้วว่าเหตุใดเศรษฐกิจไทยจึงถดถอยมากที่สุดในอาเซียนและฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียนครับ

แน่นอนว่ายังมีสาเหตุอื่นๆอีกที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถดถอยมากและฟื้นตัวช้ากว่าใครเขา คงจะต้องคุยเรื่องเศรษฐกิจกันมากขึ้น บ่อยขึ้นละครับ

อยากฟังว่าเมื่อมีการพิจารณารายงานนี้ในสภาผู้แทนราษฏรในวันที่ 28 มกราคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะตอบคำถามผู้แทนราษฎรอย่างไร และอยากดูต่อไปด้วยว่าเมื่อถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีประเด็นความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารประเทศของรัฐบาลอีกมากมายแค่ไหน