‘ไอลอว์’ งัดกม.ฟาด ตร.นำตัวผู้ชุมนุมไป ตชด.ภาค1 ไม่ได้! เหตุคำสั่งใช้สถานที่สิ้นสุดแล้ว

วันที่ 17 มกราคม 2564 โครงการกฎหมายเพื่ออินเตอร์เน็ตประชาชนหรือไอลอว์  ได้ออกมาโพสต์ข้อความพร้อมภาพคำสั่งประกาศอันเกี่ยวเนื่องกับการระบุสถานท่ี่ในการควบคุมตัวผู้กระทำ และเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองล่าสุดนับตั้งแต่ต้นปีซึ่งยังคงใช้หน่วยงานที่สิ้นสุดการใช้ไปแล้ว กลับมาใช้ควบคุมตัวผู้กระทำอีกครั้งว่า

จนถึง 16 มกราคม 2564 เมื่อตำรวจจับกุมผู้ที่แสดงออกทางการเมืองแล้ว หลายครั้งยังนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี หรือ “ตชด.ภาค1” ซึ่งอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุ ไม่สะดวกสำหรับเพื่อนหรือญาติที่จะตามไปเยี่ยม และทนายความที่จะตามไปทำหน้าที่ร่วมฟังการสอบสวน

การควบคุมตัวผู้ถูกจับที่ ตชด.ภาค1 เริ่มจากวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2563

พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ออกประกาศฉบับที่ 1/2563 เรื่องกำหนดสถานที่ควบคุม http://www.nsc.go.th/wp-content/uploads/2020/10/Emerg-06.pdf ให้ใช้ ตชด.ภาค1, กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ​ “ราบ11” และ ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่ควบคุมตัว

ประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจ จากการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศออกมาในวันเดียวกัน และมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่

หลังจากนั้นประชาชนยังได้ฟ้องศาลแพ่งเพื่อให้เพิกถอนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขให้ออกประกาศนี้ได้ คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง แต่ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยกเลิกการประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง” ไปแล้ว โดยในประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังระบุไว้ในข้อ 2 ด้วยว่า ให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ​และคำสั่ง ที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง “เป็นอันสิ้นสุดลง” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/…/2563/E/248/T_0001.PDF ประกาศฉบับที่ 1/2563 เรื่องกำหนดสถานที่ควบคุม จึงถูกยกเลิกไปแล้ว

การควบคุมตัวประชาชนเพื่อดำเนินคดี จึงต้องใช้หลักการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งกำหนดไว้ ดังนี้

“มาตรา ๘๓ ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป….”

“มาตรา ๘๔ เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ โดยทันที และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว….”

จากมาตรา 83 และ 84 จะเห็นได้ว่า คนถูกจับจะต้องถูกพาตัวไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดยทันที ระหว่าง

1) สถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกจับ หรือ

2) สถานีตำรวจของเจ้าของคดี ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่เดียวกับท้องที่ที่เกิดเหตุนั่นเอง

หลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีขึ้นเพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่ถูกจับกุมว่าจะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ไม่ให้ถูกพาตัวไปที่อื่นซึ่งระบุไม่ได้ ที่เสี่ยงต่อการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องต่อผู้ถูกจับกุมได้ การเอาตัวผู้ถูกจับกุมไปยัง ตชด.1 โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำเช่นนั้นได้ จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดจากกฎหมาย