อ.จุฬาฯชี้ บริการสาธารณสุขเป็นสิทธิตามรธน. รัฐมีหน้าที่จัดหาวัคซีน อย่าโยนภาระให้ท้องถิ่น

วันที่ 14 มกราคม 2564 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นกรณีการถกเถียงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในการจัดหาวัคซีน หลังมีข้อถกเถียงเรื่องรัฐบาลส่วนกลาง หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้ซื้อวัคซีนโควิด

ผศ.ดร.พรสันต์  ระบุว่า  อธิบายตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง เรื่องของการจัดหาวัคซีนโควิดนั้น พึงต้องเป็นหน้าที่หลักของรัฐส่วนกลาง หาใช่การให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละที่ดำเนินการกันเอง โดยจะคำนึงและยึดแต่เพียงหลักการปกครองโดยเสรีของท้องถิ่นเท่านั้นได้ไม่

เราต้องไม่ลืมว่าการที่รัฐต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดนั้น เป็นเรื่องภารกิจรัฐในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขกับประชาชน (ม.47ของรัฐธรรมนูญ) ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องดำเนินการอยู่บนมาตรฐานที่ดีมีประสิทธิภาพ (ม.55) ซึ่ง “อย่างน้อย” ตามหลักการ ต้องมีการการันตี “มาตรฐานขั้นต่ำที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ” ในการให้บริการสาธารณะโดยรัฐส่วนกลาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองด้วยว่าประชาชนจะเข้าถึงการให้บริการสาธารณสุขของรัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันอีกด้วย

หากเรากำหนดให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดหาวัคซีนเพื่อรับมือกับโควิดกันเองอาจมีปัญหากับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขรัฐที่พึงต้องมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยข้อจำกัดทางด้านสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละท้องที่ที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดหาวัคซีนโควิดครั้งนี้ มีความจำเป็นที่ต้องผ่านการพิจารณาและตัดสินใจจากรัฐส่วนกลางด้วยว่าจะจัดหาวัคซีน เพื่อให้ได้ “มาตรฐาน” แก่ประชาชนตามที่ผมได้อธิบายไปข้างต้น (เท่าที่ทราบในต่างประเทศ รัฐบาลส่วนกลางก็เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดหาวัคซีนโควิด) โดยหากจะให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วย ก็สามารถทำได้ด้วยการช่วยกระจายให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงตามวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจทางปกครอง (Administrative Decentralization) นั่นเอง

วัคซีนโควิดที่มีการถกเถียงกันในปัจจุบัน สำหรับผมแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแค่เพียงประชาชนจะเข้าถึง หรือได้รับทั่วกันหรือไม่เท่านั้น หากแต่มีประเด็นมาตรฐานของวัคซีนด้วย ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐส่วนกลางที่ต้องดำเนินการ