‘ม.หอการค้า’ เผยดัชนีเชื่อมั่นฯ ธ.ค.63 ดิ่งสุดรอบ 6 เดือน หั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 2.2%

วันที่ 11 มกราคม 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนธันวาคม 2563 ว่า จากการสำรวจหอการค้าภูมิภาค และหอการค้ากรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 ธันวาคม 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงจากระดับ 33.7 มาอยู่ที่ 31.8 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เนื่องจากตัวชี้วัดทุกด้าน อาทิ ภาคบริการ ภาคการเกษตร และและการจ้งงาน มีการปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค ส่วนดัชนีฯในปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 23.7 จากเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 25.6 และดัชนีฯ ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ 39.9 จากเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 41.7 ส่วนความเชื่อมั่นอีก 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะโตไม่ถึง 50 หรืออยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นต่ำ เนื่องจากภาคธุรกิจยังไม่มีความเชื่อมั่นจากสถานการณ์ในปัจจุบัน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบ อาทิ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกครั้ง, การยกเลิกการจัดงานปีใหม่ในหลายพื้นที่กระทบต่อเศรษบกิจในภาพรวม, ความกังวลเกี่ยวกับการล็อคดาวน์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหา และค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับ 30.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัจจัยบวก อาทิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และให้เน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น และมาตรการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2563 และต้นปี 2564 ในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น

“ห่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยหลังจากนี้ 3 เดือน หากการดูแลควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม หรือควบคุมให้เกิดการระบาดอยู่ในวงที่จำกัดได้ อาจมีผลกระทบต่อการจ้างงานหรือการปลดคนงาน ซึ่งขณะนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 2% หากมีตัวเลขการว่างงานเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 อาจขยายตัวได้เพียง 2.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ยังไม่สามารถควบคุมได้” นายธนวรรธน์ กล่าว