ส่องธุรกิจรุ่ง-ร่วงปี 2564 | โควิดทำตลาดแรงงานเปลี่ยน | ออกกฎเหล็กคุมกระทรวงใหม่

แฟ้มข่าว

ส่องธุรกิจรุ่ง-ร่วงปี 2564

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ธุรกิจเด่นปี 2564 อันดับแรก คือ ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงามธุรกิจ ตามด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือธุรกิจที่ซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจแพลตฟอร์ม หรือธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ยูทูบเบอร์ การรีวิวสินค้าจากคนดัง ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือการแพทย์ ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิเคราะห์และจัดการข้อมูล ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ ธุรกิจ Street food และ Food truck ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ และเดลิเวอรี่ ธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ เป็นต้น ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมาย/บัญชี ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง ซึ่งปัจจัยหนุนจากการใช้ชีวิตเปลี่ยนจากโควิด-19 ระบาด

ขณะที่ธุรกิจดาวร่วงคือ ธุรกิจเช่าหนังสือ ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐาน และเครื่องโทรสาร ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ความจำ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร ธุรกิจร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต ธุรกิจคนกลาง ธุรกิจดั้งเดิมไม่มีดีไซน์และใช้แรงงานเยอะ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานจำนวนมากและขายในประเทศ ธุรกิจหัตถกรรม เฟอร์นิเจอร์ไม้ ธุรกิจซ่อมรองเท้า ธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิม ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก ธุรกิจผักและผลไม้อบแห้ง ธุรกิจร้านถ่ายรูป ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจของที่ระลึก ธุรกิจจัดการประชุมและแสดงสินค้า ผับ บาร์ สถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน อสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง ธุรกิจภาพยนตร์ และร้านอาหารและภัตตาคาร

โควิดเปลี่ยนตลาดแรงงาน

รายงานข่าวจากจ๊อบไทย ผู้ให้บริการหางาน สมัครงานออนไลน์ ระบุว่า การทำงานโลกจะเปลี่ยนไปหลังเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งการสำรวจองค์กร 1,019 องค์กร พบว่า มาตรการล็อกดาวน์มีผู้ที่ได้ทำงานที่บ้านเพียง 34.1% อีก 65.9% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน แนวโน้มปี 2564 องค์กรส่วนใหญ่มีแผนปรับขึ้นเงินเดือน โดยช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีผู้ว่างงาน 23.7% ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานในประเภทธุรกิจการบริการ ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจการขายปลีก โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวมีสัดส่วนผู้ว่างงานที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 สูงถึง 71.9%

รัฐดึงลงทุนแนวเป็นมิตรต่อ สวล.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน พร้อมด้วยนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐ และผู้แทนจากบริษัท รวม 38 บริษัท ได้หารือระบบทางไกล โดยแจ้งว่าพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลไทยเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิตอลและยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนมากขึ้น โดยรัฐบาลได้เร่งพัฒนาโครงข่าย 5 จี ในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยรองรับเทคโนโลยีดิจิตอล และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ในไทย ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมพบว่าขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่องปี 2564

ออกกฎเหล็กคุมกระทรวงใหม่

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เปิดเผยว่า ร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ ซึ่งจะออกตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย สาระสำคัญคือการกำหนดให้การให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกต้องไม่กำหนดงวดชำระหนี้ยาวเกินไป และสมาชิกจะต้องมีเงินได้คงเหลือหลังหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 30% เพื่อให้สมาชิกมีเงินเหลือต่อเดือนเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะก่อนหน้าบางสหกรณ์หักหนี้จากสมาชิกจนแทบไม่เหลือเงินรายเดือนไว้ใช้ ต้องไปกู้หนี้นอกระบบ กลายเป็นการเพิ่มภาระครัวเรือน

เคาะสิทธิประโยชน์ลงทุน

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2564 เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ เป็นสิทธิที่เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมครั้งนี้ มีข้อแม้ว่าต้องมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม ผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึงสิ้นปี 2564 มั่นใจมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท จากปีนี้เกือบ 3 แสนล้านบาท

สตง.เลิกใช้เอกสารกระดาษ

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เตรียมใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารแบบกระดาษ โดยแนวทางการปรับปรุง คือ การออกเอกสารที่มีการจัดเตรียมผ่านโปรแกรมสำนักงาน และทำการพิมพ์ออกมาเพื่อลงนามด้วยปากกา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ทำการตรวจสอบบนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบงานของหน่วยงานรับตรวจ คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และลงนามบนไฟล์เอกสารพีดีเอฟ ผ่านโปรแกรมจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเอ็ตด้าให้การสนับสนุนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ลงลายมือชื่อ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมกราคม 2564

แผนระยะยาว สตง.จะจัดเตรียมระบบการออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบพีดีเอฟ/เอ-3 ที่คงรูปแบบเอกสารเดิมไว้และรองรับการแนบไฟล์พีดีเอฟ เพื่อให้การทำงานถูกต้องและแม่นยำขึ้น