‘หมอชลน่าน’ ถามหาเหตุผลสลายม็อบหน้ารัฐสภา ‘บิ๊กช้าง’แจงยิบ ยัน ‘บิ๊กตู่’ ห่วงชุมนุมทุกกลุ่ม

‘หมอชลน่าน’ ถามหาเหตุผลสลายม็อบหน้ารัฐสภา จี้เหตุใด ‘นายกฯ’ รับข้อเสนอลาออกไม่ได้ ไม่ยอมเสียสละเพื่อปท. ด้าน ‘บิ๊กช้าง’ ร่ายยาวแจงยิบ ยัน ‘บิ๊กตู่’ ห่วงชุมนุมทุกกลุ่ม กำชับจนท.ดูแลความปลอดภัย เลี่ยงการเผชิญหน้า ลดการปะทะ ปฏิบัติงานภายใต้กรอบกฎหมาย

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง การชุมนุมและะการสลายการชุมนุม หรือการดูแลควบคุมการชุมนุม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่หน้ารัฐสภา ว่า อยากให้บอกว่าในวันดังกล่าวเกิดอะไรขึ้น ทราบหรือไม่ว่าผู้ชุมนุมเป็นใคร กลุ่มไหน แต่ละกลุ่มมีวัตถุประสงค์อะไร และจากการชุมนุมมีการใช้อาวุธ ใช้กำลัง มีการปะทะกัน มีการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี มีการใช้กระสุนยาง กระสุนจริง ทราบหรือไม่ว่าอาวุธเหล่านั้นมาจากกลุ่มไหน และขอทราบจำนวนผู้ได้รับผลกระทบว่ามีผู้บาดเจ็บทั้งหมดเท่าไหร่ จากอะไร และการดำเนินการควบคุมดูแลการชุมนุมดังกล่าว เป็นไปตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือไม่

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า สำหรับการดูแลการชุมนุมนั้น นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มใดก็ตาม กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแทรกซ้อนหรือความรุนแรง รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกัน ส่วนเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นทุกคนมีสิทธิแสดงออกภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สำหรับในวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการประกาศการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่บริเวณรัฐสภา ทางเจ้าหน้าที่เล็งเห็นถึงความปลอดภัย การเข้า-ออกสถานที่ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภา จึงได้ออกคำสั่งโดยปฏิบัติตามอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 มาตรา 7 วรรคท้าย ห้ามการชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบรัฐสภา เพื่อควบคุมและกำหนดให้พื้นที่รอบรัฐสภาเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อรักษาความปลอดภัย

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวต่อว่า การชุมนุมในวันที่ 17 พฤศจิกายน มีผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ช่วงเช้าเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองหรือกลุ่มไทยภักดี ส่วนช่วงประมาณเวลา 14.00 น. คือกลุ่มราษฎร ขอชี้แจงว่าในช่วงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นนั้นในช่วงแรกที่กลุ่มไทยภักดี เมื่อได้ยื่นหนังสือก็ได้ไปอยู่ที่ถนนแยกเกียกกาย และช่วงเวลา 14.00 น.ที่กลุ่มราษฎรเข้ามานั้นเจ้าหน้าที่จึงให้กลุ่มไทยภักดีไปอยู่ที่ถนนทหาร และกลุ่มราษฎรเข้ามา 2 ทางคือถนนประชาราษฎร์และถนนสามเสน พยายามให้แต่ละกลุ่มแยกกันเพื่อไม่ให้เผชิญหน้าโดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลและมีแนวป้องกันควบคุมพื้นที่ ซึ่งลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการสลายการชุมนุม เพียงแต่เป็นการป้องกันการเข้ามาและไม่ให้แนวป้องกันพื้นที่ควบคุมถูกทำลาย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ส่วนที่ถามว่าอาวุธมาจากกลุ่มใดมีผลกระทบอย่างไร จากการติดตามมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 55 ราย มีผู้ถูกยิงจำนวนหนึ่ง ได้มีการสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) สอบสวนพฤติกรรม พิสูจน์ทราบตัวบุคคล และดำเนินคดีทุกกลุ่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการที่จะแจ้งข้อหาทุกกลุ่มที่ก่อให้เกิดการปะทะกัน ส่วนแผนการดูแล ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้คุมเหตุการณ์มีการวางแผนการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง หลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากที่สุด เมื่อผู้ชุมนุมผ่านแนวควบคุมเข้ามาจะเห็นว่าตำรวจได้ถอยร่นเพื่อไม่ให้มีการเผชิญหน้ากัน

นพ.ชลน่าน ถามอีกว่า ข้อเท็จจริงฟ้องว่าการดูแลการชุมนุมไม่เป็นไปตามแผน ที่สำคัญการตัดสินใจของผู้ควบคุมสถานการณ์ในการประกาศเขตห้ามชุมนุมกำหนดระยะ 50 เมตร แล้วใช้แก็สน้ำตา น้ำแรงดันสูง กระสุนยาง ส่ิงเหล่านี้ถ้าจะใช้ต้องได้รับอนุญาตจากศาล เพราะเป็นการใช้อาวุธ และการปิดกั้นไม่ให้เข้ามาชุมนุม ถือเป็นการละเมิดสิทธิ เมื่อปิดกั้นเขาก็ต้องพยายามเข้ามา แต่กลับป้องกันด้วยการทำลาย โดยอาวุธที่ใช้เป็นอาวุธเคมี จากการเอาน้ำที่ฉีดไปวิเคราะห์ ผลออกมาพบว่ามีสารเคมี 5 ตัวที่เห็นชัดเจน ที่สำคัญมี 4ตัวที่เป็นสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของแก๊สน้ำตา และในบทบัญญัติระบุว่าให้บรรจุแล้วขว้างไปไม่ให้โดนผู้ชุมนุม ไม่มีการระบุว่าให้ผสมน้ำแล้วฉีด ท่านต้องไปเอาผลวิเคราะห์ว่ากระทำเกินกว่าเหตุผสมไม่ได้สัดส่วน ซึ่งตนเห็นห่วงในเรื่องสิทธิมนุยชนเรื่องความรุนแรง เพราะนานาประเทศเฝ้ามองอยู่ ดังนั้น ขอถามว่าขณะนี้มีประเทศไหนบ้างที่ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยและขึ้นบัญชีดำประเทศไทย ไม่ให้คนไทยเขาประเทศเขามีหรือไม่ ถ้ามีจะจัดการอย่างไร เพราะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ขอถามว่าสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขอให้นายกฯลาออก ทำไมนายกฯถึงรับข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้ มีเหตุผลอะไรทำไนายกฯไม่เสียสละเพื่อประเทศ กุญแจดอกเดียวที่จะยุติปัญหาทุกอย่างกลับมาเริ่มต้นให้คนไทยมีความสุขมีความหวัง สถาบันอันเป็นที่รักไม่ถูกกระทบ ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้ง

พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจงว่า น้ำในรถไม่ได้ผสมแก๊ส แต่ในขั้นตอนกำหนดผสมไม่เกิน 3% จำนวนนี้ผู้ชุมนุมได้รับผลกระทบจากน้ำผสมแก๊สน้อยที่สุด ส่วนที่เก็บตัวอย่างน้ำ และมีองค์ประกอบสารเคมีหลายชนิดนั้น เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าได้ตรวจสอบแล้วเช่นกัน ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามแผน โดยนายกฯย้ำกับเจ้าหน้าที่ควบคุมการชุมนุมให้เลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์และตามหลักสากล รวมถึงพ.ร.บ.ชุมนุม ส่วนการทำงานนั้นต้องรอบคอบ และกระทบกับผู้ชุมนุมน้อยที่สุด รวมถึงเตรียมทีมแพทย์เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวต่อว่า สิทธิชุมนุมการแสดงความเห็น ทั้งเห็นด้วยหรือคัดค้านทำได้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบบุคคลอื่น ต้องไม่ขัดต่อศิลธรรมอันดี และความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเน้นการปฏิบัติให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง ซึ่งการปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ใช้การเจรจาและถอยเพื่อลดการเผชิญหน้าให้มากที่สุด ส่วนที่ถามถึงปฏิกิริยาของต่างประเทศนั้น เท่าที่ทราบไม่มีประเทศใดที่มีลักษณะเช่นนั้น

“คำถามที่ว่านายกฯ?จะลาออกหรือไม่ ผมในฐานะผู้แทนนายกฯ มาตอบกระทู้ถามเรื่องการชุมนุม ส่วนท่านจะพิจารณาอย่างไรอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกฯ ที่จะตัดสินใจต่อว่าจะทำอย่างไรต่อไป” พล.อ.ชัยชาญ ชี้แจง