‘ธนาธร’ พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ. ล้มอิทธิพลบ้านใหญ่เปลี่ยนท้องถิ่น ปิยบุตรเผย “ความหวัง”

‘ธนาธร’ พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง อบจ. ล้มอิทธิพลบ้านใหญ่ ยึดหลัก 3 ข้อเปลี่ยนท้องถิ่น เผยผู้สมัครถูกข่มขู่คุกคามและใช้เงินซื้อ

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 23 พ.ย. 2563 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายชำนาญ​ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ประกอบด้วย นายธัชชัย เมตโต ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ นายชัชวาล นันทะสาน ผู้สมัครนายก อบจ.นครปฐม และน.ส.พลอยลภัสร์ สิงห์โตทอง ผู้สมัครนายก อบจ.ชลบุรี เข้าพบผู้บริหารเครือมติชน-ข่าวสด เพื่อแนะนำผู้สมัคร

นายธนาธร กล่าวว่า เราเชื่อว่าการเมืองท้องถิ่นที่เข้มแข็งจะทำให้ประชาธิปไตยระดับประเทศเข้มแข็ง เราจึงตั้งใจจะทำงานการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ตั้งใจว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่ทำงานระดับชาติ และระดับเมืองท้องถิ่นไปพร้อมกัน เหมือนญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา เราอาจจะเห็นรูปแบบที่คล้ายกันที่การเมืองระดับประเทศเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับท้องถิ่นคือพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่พอพรรค อนค. ถูกยุบองค์กรก็แตกออกเป็น 2 องค์กรคือ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และคณะก้าวหน้า ที่ทำงานระดับท้องถิ่นในทุกระดับ

นายธนาธร กล่าวต่อว่า อีกประมาณไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นๆ คือเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา จากนั้นต่อด้วยการเลือกตั้งระดับประเทศ ที่ผ่านมาไม่เคยมีกลุ่มไหนที่ส่งผู้สมัครได้จำนวนมากเท่าคณะก้าวหน้า ในครั้งนี้ คือ 42 จังหวัด ถือเป็นเรื่องที่ทะเยอทะยานมากที่จะส่งผู้สมัครสนาม อบจ.ด้วยจำนวนเท่านี้ หากให้เวลาอีก 3 เดือน เราเชื่อว่าจะสามารถส่งครบทั้ง 76 จังหวัด เราตั้งใจส่งให้ครบทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ รวมถึงจังหวัดชายแดนใต้

“เราเชื่อว่าการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนขั้นพื้นฐาน ควรจะอยู่ที่ระดับท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมาไม่ถูกเห็นความสำคัญ เพราะถูกผูกขาดมานาน มีอิทธิพลบ้านใหญ่ จนไม่มีใครกล้าท้าทาย เมื่อไม่มีการแข่งขัน จึงไม่มีผลงานใหม่ ทั้งที่มีงบประมาณในท้องถิ่นเยอะมาก”

นายธนาธร กล่าวอีกว่า เราจึงอยากเปลี่ยนแปลงการเมืองท้องถิ่นด้วยหลัก 3 ข้อ คือ 1.ยืนยันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจเผด็จการ 2.การไม่มีการซื้อสิทธิ์ ซื้อเสียง ที่เป็นก้าวแรกของการเมืองเก่า และ 3.การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น เราเชื่อว่าเมื่องบประมาณไม่ต้องถูกไปตอบแทนคุณใคร ก็จะมีงบไปทำให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้น เราต่อสู้ด้วยนโยบายที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ

“คณะก้าวหน้าสร้างนโยบายด้วย เดิน 3 จริง คือ ลงพื้นที่จริง คุยกับประชาชนจริง และดูสถานการณ์จริง ไม่มีการปูพรมแดง ทำให้เราได้นโยบายที่แตกต่างหลากหลายในแต่ละจังหวัด แต่อยู่ใต้กรอบเดียวกัน คือ การสร้างบริการสาธารณะให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราจึงอยากรณรงค์ให้ประชาชนได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ เพื่อสุขภาพของประชาธิปไตย”

นายธนาธร กล่าวถึงรูปแบบการรณรงค์หาเสียงในสนามท้องถิ่นว่า เราใช้เวลานานในการหารูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่ และวัยที่แตกต่างกัน มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติมาก อย่างตนเชื่อว่าอิทธิพลบ้านใหญ่แผ่วลงไปเยอะมากแล้ว และตนไม่เชื่อว่าจะเกิดความรุนแรงแบบอดีต แต่ยอมรับว่าผู้สมัครฯ ของคณะก้าวหน้าถูกข่มขู่คุกคามและใช้เงินซื้อแตกต่างกันไป

นายธนาธร กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่หลายจังหวัด พบว่ากลุ่มบ้านใหญ่มีการปรับตัวในการหาเสียง และลงพื้นที่พบกับประชาชนมากขึ้น เพราะแต่เดิมผู้สมัครนายก อบจ. จะไม่ลงพื้นที่เองเลย แต่จะทำผ่าน ส.อบจ. ส่วนการเลือกวันที่ 20 ธ.ค. เป็นวันเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่วันหยุดยาว ทั้งที่หน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะส่งเสริมให้คนออกไปใช้สิทธิ์มากที่สุด แต่กลับเลือกจัดเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค. ที่ยากต่อการออกไปใช้สิทธิ์ เพราะคงไม่มีใครกลับ 1 วัน เพื่อจ่ายเงิน 2,000-4,000 บาท เพื่อไปใช้สิทธิ์แค่ครั้งเดียว ทั้งนี้ ประชาชนที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ก็จะเสียสิทธิ์ในการเมืองหลายอย่าง เช่น การลงสมัครรับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้มีกลิ่นอายของการเมืองระดับชาติเยอะ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยในระดับประเทศ

ด้านนายปิยบุตร กล่าวว่า คณะก้าวหน้ายืนยันเรื่องจุดยืนการยุติรัฐราชการรวมศูนย์คืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ที่ต้องอาศัยสองส่วนร่วมกัน การเมืองระดับชาติเราตั้งใจนำอำนาจส่วนกลางกลับสู่ท้องถิ่น และเปลี่ยนการเมืองท้องถิ่นให้มีลักษณะสร้างสรรค์ต่างจากเดิม ทำการเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ สู้กันด้วยนโยบาย จริงอยู่เราถูกยุบพรรค แต่เราก็ยังสามารถทำงานในส่วนคณะก้าวหน้าคือสนามท้องถิ่น และอีกส่วนคือพรรคก้าวไกล และยังคงทำงานประสานกันอยู่

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า หากพูดถึงปัญหาจากการลงพื้นที่ที่เราพบในทุกๆ ท้องถิ่นคือ ทุกที่ไม่มีนโยบาย มีแต่การผูกขาด แข่งกันด้วยนามสกุลและอิทธิพล นอกจากนี้ การโหวตการทำโครงการเชื่อว่าพี่น้องในท้องถิ่นหลายคนโหวตโดยไร้ข้อมูล เราจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้ใหม่ทั้งหมด ในการเพิ่มช่องทางในการมีส่วนร่วม การประชุมสภา อบจ.อาจมีถ่ายทอดสด ทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนในการกำหนดว่างบประมาณเหล่านั้นจะนำไปใช้อะไรบ้าง

“ทุกวันนี้หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีการเลือกตั้ง อบจ. อีกทั้งวันเลือกตั้งยังเป็นวันธรรมดาที่ไม่ใช่วันหยุดยาว เพิ่มภาระให้กับประชาชน และประเด็นกติกาการเลือกตั้งที่นำมาซึ่งการร้องเรียนบ่อยครั้ง ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แทนที่ประชาชนจะได้สนใจในนโยบายกลับกลายเป็นสนามจับผิด แม้กระทั่งการกำหนดอายุผู้สมัครไว้ที่ 35 ปีก็ทำให้หลายคนหมดโอกาส ทั้งความหลากหลายและสถานะทางเพศที่ยังคงติดปัญหาเรื่องแนวคิด วัฒนธรรมและการทำงาน ทั้งผู้มีอิทธิพลข่มขู่คุกคาม คณะก้าวหน้าพยายามป้องกันให้มากที่สุด และพูดคุยกันด้วยอุดมการณ์ เชื่อมั่นว่าเราจะยังคงเดินหน้ากันต่อไป เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเรื่องของความหวังคนทั้งประเทศ ที่อยากเห็นการเมืองใหม่ๆ”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหากลุ่มคนเห็นต่างที่พยายามเข้ามาขัดขวางการหาเสียงนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ จากการสังเกตบ่อยครั้ง คาดว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เน้นหรือสนใจเนื้อหาหรือการเลือกตั้ง แค่ต้องการโจมตีตน ธนาธร และช่อ พรรณิการ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เมื่อเกิดการขีดเส้นแบ่ง เช่น กลุ่มคนที่มีความคิดฝังหัวว่าเราอยู่เบื้องหลังการชุมนุมเช่นนี้ จะยังคงอยู่กับภาพที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ทั้งที่การชุมนุมวันนี้มันไปไกลกว่านั้นแล้ว

“เราหลายเป็นที่ระบายของคนที่เห็นต่าง ผมกังวลว่า นี่อาจทำให้บรรยากาศการเมืองย้อนไปสู่ 10 ปีที่แล้วอีกครั้ง และทำให้บรรยากาศการเมืองท้องถิ่นบิดเบือน บิดเบี้ยวไป แทนที่ประชาขนจะได้ก้าวมาสู่เนื้อหาการพัฒนาท้องถิ่นบัานเกิด เลือกตั้งนายกอบจ. แต่กลับแบ่งขั้วแล้วมาพุ่งเป้าที่การโจมตีเราเป็นหลัก”

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราหวังกับการเลือกตั้งท้องถิ่นคือ 1.หากคณะก้าวหน้าได้รับความไว้วางใจจนสามารถชนะในจังหวัดที่มีผูกขาดมาหลายสิบปีได้ หมายความว่ากลุ่มอิทธิพลผูกขาดไม่สามารถทำงานในระดับท้องถิ่นได้อีกแล้ว 2.เราจะมีโอกาสบริหารในระดับท้องถิ่น และมีโอกาสผลักดันนโยบายกระจายออกไปสู่การพัฒนาจริง และ3.สามารถส่งผลถึงการเมืองระดับชาติได้ นี่คือความหวังที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ถ้ามีการเลือกตั้งช่วงวันหยุดยาว และมีการเลือกดตั้งล่วงหน้าจะทำให้เราได้คะแนนมากกว่านี้ เพราะมีประชาชนอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และต้องการประธิปไตย คาดว่ากระแสจะคล้ายกับช่วงอดีตพรรค อนค. ซึ่งจะทำให้คณะก้าวหน้าได้รับความนิยมมากขึ้น ต้องยอมรับว่าในระบอบประชาธิปไตย คนในจังหวัดหนึ่งคงไม่มีใครมีความเห็นเหมือนกันทั้งหมด อาจจะมีทั้งคนที่ชอบเรา และไม่ชอบเรา ใครไม่ชอบนายธนาธร และนายปิยบุตร ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่อยากให้เชื่อมโยงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และตัดสินใจไม่เลือกเรา เพราะเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เราไม่อยากให้นายธนาธรเป็นที่ระบายอารมณ์

ส่วนนายธัชชัย กล่าวว่า สมุทรปราการเป็นจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพ แต่การพัฒนากลับทำได้ไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งเกิดจากการผู้ขาดของผู้มีอิทธิพลทางการเมือง พี่น้องสมุทรปราการได้รับผลกระทบโดยเฉพาะน้ำเสียและฝุ่น จากการเป็นเมืองนิคมอุตสาหกรรม ประชาชนประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย เรามีแนวคิดจะกระตุ้นการขนส่งสาธารณะกระตุ้นเศรษฐกิจ บำบัดน้ำเสีย ฟื้นฟูภาคเกษตรกรโดยเฉพาะการจัดการน้ำ คลองสำโรง ตรวจจับน้ำเน่าเสีย ทำแพขนานยนต์เชื่อมต่อฝั่งเมืองปากน้ำและฝั่งพระสมุทรเจดีย์ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่ทำให้ตนมีแรงผลักดัน คือการที่สมุทรปราการถูกแช่แข็งการพัฒนามานาน และถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

น.ส.พลอยลภัสร์ กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกหมดหวังกับการบริหารจังหวัดชลบุรี กับการนำงบไปใช้กับพวกพ้องและการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่มีงบประมาณในการใช้พัฒนาชลบุรีรองลงมาจากกรุงเทพฯ ชลบุรีต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงทุกระดับ เปลี่ยนงบลงถนนเป็นงบพัฒนาสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกต้องกระจายสู่ทุกพื้นที่ พัฒนาโรงเรียน 10 แห่งที่มีคุณภาพ สวัสดิการคุ้มครองเด็ก ลดความเหลื่อมของเด็กในเมืองและเด็กนอกอำเภอ เพิ่มศูนย์ฟอกไตและศูนย์สุขภาพผู้สูงวัยทุกอำเภอ ตนมีความปรานาดีและตั้งใจเปลี่ยนการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เพราะเชื่อว่าคุณภาพชีวิตดีได้ถ้าการเมืองดี

ขณะที่นายชัชวาล กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมมีงบประมาณและศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาได้มากกว่านี้ แต่งบประมาณกว่า 1.2 พันล้านบาท กลับถูกใช้ไปทุกปีโดยไม่มีการตรวจสอบและแจกแจง จากการลงพื้นที่ ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างแรกคือการหักหัวคิว จึงเป็นที่มาของนโยบายเปิดเผยข้อมูลรัฐกำจัดทุจริต ผ่านแอปพลิเคชันมือถือที่คณะก้าวหน้าพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้น รองรับการแจ้งปัญหาที่ประชาชนระดับท้องถิ่นต้องทุกวัน เช่น การแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาไฟดับน้ำไม่ไหล นครปฐมยุคใหม่นายใหญ่ต้องเป็นประชาชน ต้องตรวจสอบได้ เสนอโครงการนโยบายเพื่อผลักนครปฐมให้ดีขึ้นได้