“คนส.” ร้องศาล-ระบบตุลาการใช้อำนาจปกป้องเสรีภาพประชาชน อย่ารับใช้ผู้มีอำนาจ

วันที่ 7 กันยายน 2563 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกแถลงการณ์เช้านี้ ต่อสถานการณ์การจับกุมนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะกรณีล่าสุดของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำนักศึกษาตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกศาลถอนประกันตัวหลังการปราศรัยในการชุมนุมทางการเมือง
คนส.แถลงว่า ตามที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 เพิกถอนการประกันตัวนายอานนท์ นำภา (ทนายอานนท์) และนายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) ในคดี “เยาวชนปลดแอก” ตามคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวของพนักงานสอบสวนนั้น เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เห็นว่าการใช้อำนาจของศาลในกรณีดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันการใช้อำนาจของศาลตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมามีลักษณะไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลดังนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 บัญญัติให้ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลดังกล่าวเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดจริง เพราะเหตุนี้การควบคุมตัวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนจึงต้องทำในกรณีที่จำเป็นและเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น โดยจะต้องมีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอที่จะจำกัดเสรีภาพของผู้ต้องหาได้ เช่น ผู้ต้องหามีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ทำลายพยานหลักฐาน หรือมีภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการให้ประกันตัว แต่ในกรณีของทนายอานนท์และไมค์ไม่ปรากฏว่าทั้งสองมีพฤติการณ์ข้างต้นแต่อย่างใด ทั้งยังได้ยืนยันมาตลอดถึงสิทธิอันชอบธรรมในการกระทำของตนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ การควบคุมตัวทนายอานนท์และไมค์จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคลโดยปราศจากเหตุผลเพียงพอ เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักนิติรัฐที่รัฐธรรมนูญรับรอง
2. การกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวโดยห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีอีก มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เมื่อการกระทำของบุคคลทั้งสองยังไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นความผิด ศาลจะกำหนดเงื่อนไขห้ามการกระทำซึ่งยังไม่เป็นความผิดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านั้นจะต้องมีกฎหมายที่ตราโดยฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจเอาไว้เท่านั้น แม้มาตรา 108 วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะให้อำนาจศาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการประกันตัวต้องปฏิบัติ แต่การใช้อำนาจนั้นจะต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการให้ประกันตัวและหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย และในเมื่อการกระทำของเขายังไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นความผิด การที่ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันอีกจึงเป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ มาตรา 112 วรรคท้ายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่าในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้ ฉะนั้น การกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวในลักษณะที่ห้ามมิให้ผู้ต้องหาใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญข้างต้นจึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและรัฐธรรมนูญ
3. นับแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สถาบันตุลาการมิได้ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนจากการใช้อำนาจอำเภอใจของคณะรัฐประหาร หากแต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเครื่องมือของคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะโดยการรับรองประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย หรือการลงโทษผู้ต่อต้านคณะรัฐประหารโดยใช้ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร รวมทั้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ แม้ต่อมาจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและมีรัฐบาลใหม่ แต่สถาบันตุลาการมิได้เปลี่ยนแปลงบทบาทแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ศาลได้ใช้อำนาจออกหมายจับตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลการตั้งข้อหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และศาลมีหน้าที่ให้การปกป้องคุ้มครอง มิใช่เป็นกลไกในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้เสียเอง
ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนคือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ศาลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐย่อมต้องใช้อำนาจในนามของประชาชน มิใช่ในนามของผู้มีอำนาจอื่น และต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเจ้าของอำนาจ ศาลจึงต้องถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ การตั้งคำถามถึงบทบาทของศาลในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นเพื่อทำให้ศาลแสดงบทบาทที่หนุนเสริมประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น
จากที่กล่าวมาข้างต้น คนส.จึงมีขอเรียกร้องต่อศาลในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ดังนี้
1. ขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในการออกหมายจับและตั้งข้อกล่าวหาต่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรมของประชาชน
2. ขอให้ศาลตระหนักถึงการใช้อำนาจในนามของประชาชน มิใช่ในนามของผู้มีอำนาจอื่น ทำหน้าที่รับใช้ประชาชน และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนหลักการนิติรัฐและประชาธิปไตย
3. ขอให้มีการปฏิรูปองค์กรตุลาการโดยการใช้อำนาจตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชนและคุณค่าประชาธิปไตย
ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
7 กันยายน 2563