รายงานพิเศษ ชายแดนใต้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ตอน เปิดแผนการพัฒนา “สุไหงโก-ลก” ให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าชายแดนใต้

สุไหงโก-ลก เป็น 1 ใน 13 อำเภอ ของ จังหวัดนราธิวาส ที่ตัวเมืองมีขนาดใหญ่และเจริญกว่าตัวจังหวัดมาก เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ถึงสองด้านคือทิศตะวันออกและทิศใต้  สามารถเดินทางเข้า-ออก หรือขนส่งสินค้าทางรถยนต์ ได้สะดวก ประชากรในเขตเมืองส่วนใหญ่ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ ส่วนชาวไทยมุสลิมมักจะอาศัยอยู่นอกเมือง ประกอบอาชีพทางการเกษตร นิยมปลูกลองกองและยางพารา การนับถือศาสนา มีทั้งศาสนาอิสลาม พุทธและคริสต์ สภาพโดยรวมมีความคล้ายคลึงกับอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพียงแต่เบตงจะมีชาวไทยเชื้อสายจีนมากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

ปัจจุบันอำเภอสุไหงโก-ลกมีความเจริญและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง มีด่านการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของฝั่งตะวันออก เป็นศูนย์กลางของการค้าขายส่งสินค้าทั้งพืชผักผลไม้ ตลอดจนไม้แปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และขนมนมเนยจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่เดินทางผ่านเข้า-ออกด่านสุไหงโก-ลก ปีละหลายแสนคน นับเป็นจุดแข็งที่ส่งผลให้ สุไหงโก-ลก เป็นหนึ่งในสามเมืองต้นแบบ ตามโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในฐานะเมือง “การค้าชายแดนระหว่างประเทศ” 

สำหรับแผนการพัฒนาเพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบ “การค้าชายแดนระหว่างประเทศ” ของอำเภอสุไหงโก-ลก ได้เน้นการพัฒนาศักยภาพของเมืองชายแดนในหลายมิติ โดยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วยการเปิดจุดให้บริการ One Stop Service ของ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่นำเข้าและส่งออกผ่านด่านพรมแดนแบบครบวงจร ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าการนำเข้าส่งออกปีละประมาณ 3,200 ล้านบาท สินค้าหลักร้อยละ 80 เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศมาเลเซีย จำพวกไม้แปรรูปและอาหารทะเล   ขณะที่มีสินค้าจากไทยส่งออกไปยังมาเลเซีย อาทิ แป้ง   น้ำยางพารา ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี  จากการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ที่ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม ที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ร่วมกับ อำเภอสุไหงโก-ลก ได้เสนอแผนขอความเห็นชอบงบประมาณในการลงทุนพัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก จากคณะรัฐมนตรี ด้านต่างๆ เช่น

– การก่อสร้างศูนย์การค้าชายแดน ประกอบด้วย อาคารที่จะใช้ติดต่อนักลงทุน อาคารประชุมของเทศบาล ขนาด 1,000 ที่นั่ง และ ลานวัฒนธรรม ในวงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท

สร้างร้านค้าปลอดภาษี (duty free) ส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ที่บริเวณด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ในวงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท พร้อมเสนอให้ ศุลกากร จูงใจให้สิทธิพิเศษคนไทยช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมปลอดภาษี ได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท/คน/เดือน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ส่วนสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายในร้านค้าปลอดภาษี แบ่งเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดนราธิวาส ร้อยละ 25 ที่เหลือจะเป็นสินค้าแบรนด์เนมในดิวตี้ฟรีทั่วไป โดยจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ใหม่ ให้เจาะกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากขึ้น 

ยกระดับตลาดเก็นติ้ง เป็นตลาดกลางการเกษตร ให้มีรูปแบบเหมือนตลาดไท ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีพื้นที่ในการจัดทำโครงการประมาณ 8 ไร่ ที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อปรับปรุงให้เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการที่เป็นพ่อค้าคนกลางและเกษตรกรจากอำเภอใกล้เคียง ทั้งนี้ลูกค้ากลุ่มหลักคือชาวมาเลเซียที่นิยมมาจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งปลีกและส่ง เพื่อนำไปจำหน่ายต่อในประเทศมาเลเซีย เพราะที่ตลาดแห่งนี้ มีสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก และครบทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย และส่งตรงมาจากแหล่งผลิตในจังหวัดใกล้เคียง 

– ก่อสร้างสถานีขนส่งครบวงจร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายตลาดการค้า โดยมีแผนก่อสร้าง คลังเก็บสินค้า จุดกระจายสินค้า และจุดรับ-ส่งสินค้า ที่ครบวงจรและได้มาตรฐาน รองรับความต้องการของภาคเอกชน เบื้องต้นทางอำเภอสุไหงโก-ลก ได้เตรียมจัดซื้อที่ดินจำนวน 87 ไร่ เพื่อจัดทำสถานีขนส่งครบวงจรที่มีลานกองเก็บและคลังสินค้า โดยตั้งงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 300 ล้านบาท ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม อนุมัติงบประมาณแล้ว 3 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาและออกแบบโครงสร้าง รวมถึงแผนปรับปรุงพื้นที่สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ซึ่งถือเป็นสถานีสุดท้ายของประเทศไทยก่อนเข้าสู่ประเทศมาเลเซีย ในวงเงินงบประมาณ 31 ล้านบาทเศษ  โดยปรับรางวิ่ง ปรับปรุงคลังสินค้า และพิพิธภัณฑ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ในอดีตสามารถเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียผ่านทางรถไฟได้ แต่ปัจจุบันเกิดน้ำท่วมใหญ่ในมาเลเซีย ทำให้เส้นทางนี้หายไป และยังไม่ได้เปิดใช้บริการ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนพูดคุยระหว่าง ศอ.บต.กับทางการประเทศมาเลเซีย

ขณะที่การส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาร่วมจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยว อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนราธิวาส และเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ที่มีการจัดกิจกรรมออกร้านและจัดแสดงสินค้า โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ และการจัดกิจกรรมสันทนาการ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีเงินสะพัดในพื้นที่มากกว่า 50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของรัฐบาล ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในการเชื่อมโยงกรอบการทำงานที่สอดรับกันในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก รวมทั้งอีก 12 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส และชาวมาเลเซียตามแนวชายแดน นอกจากนี้ยังรวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย