‘อนุทิน’ ลั่นคนไทยทุกครอบครัวต้องมีหมอประจำตัว 3 คน

“อนุทิน” ลั่นให้คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน คือ หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอครอบครัว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัว มีหมอประจำตัว 3 คน” คือ หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอครอบครัว ดูแล ให้ความรู้ สร้างเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ช่วยลดการเดินทาง ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่

วันที่ 19 ส.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมระดมสมองเพื่อบูรณาการงานสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมีผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาคเอกชน ท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชน เข้าร่วมประชุมจำนวน 100 คน ว่า สธ.มีนโยบายสำคัญอันดับต้น คือ การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง โดยการระดมความคิดบูรณาการงานสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพปฐมภูมิตามระบบสุขภาพชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ในครั้งนี้ นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพภาคประชาชน ตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และต่อยอดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเกิดเป็นนโยบาย “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นโยบาย “คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน” คือ ทุกครอบครัวจะมี 1.หมอประจำบ้าน (อสม.ระดับหมู่บ้าน) ซึ่งอสม. 1 คนจะรับผิดชอบ 8-15 หลังคาเรือน 2.หมอสาธารณสุข (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข/พยาบาลระดับตำบล) โดยบุคลากรสาธารณสุขระบบปฐมภูมิ (รพ.สต., หน่วยงานสาธารณสุข, เทศบาล, กทม.คลินิกอบอุ่น ฯลฯ) 1 คน รับผิดชอบประชาชน 1,250 คน หรือ 1-3 หมู่บ้าน และจะประสานการทำงานร่วมกับอสม. และ 3.หมอครอบครัว เป็นแพทย์ที่มีองค์ความรู้หรือจบด้านเวชศาสตร์ครอบครัว รับผิดชอบต่อประชาชน 10,000 คน หรือ 1-3 ตำบล โดยหมอประจำตัวทั้ง 3 จะบูรณาการทำงานร่วมกันในการดูแล ให้ความรู้ ส่งเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสานต่อแนวทาง “สร้าง นำซ่อม”

“ทั้งนี้ การบูรณาการงานสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลระดับจังหวัด การแก้ปัญหาหรือพัฒนาระบบบริการการรักษา (Care) การสาธารณสุข (Public Health) การจัดการสภาพแวดล้อมและสังคม (Social Determinant of Health : SDH) โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนไทยทุกครอบครัว มีคุณภาพชีวิติที่ดี ประชาชนและเจ้าหน้าที่มีความสุขร่วมกัน” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว