“โรม” สอนมวย หลักการองค์ประชุม เป็นหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จี้แสดงรับผิดชอบสภาล่ม

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อปรากฎการณ์ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่มาประชุมสภาเมื่อวานนี้จนเกิดสภาล่มว่า เมื่อวาน เหตุการณ์ที่หลายคนรวมถึงผมเองได้กล่าวถึง คือ การที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรต้องล่มลงเป็นครั้งที่สามในสองรอบสมัยการประชุม
.
อย่างที่พวกเราทุกคนคงเข้าใจกันดี คือ สถานการณ์ของรัฐบาลนี้ไม่ได้อยู่ในสถานะ ‘เสียงปริ่มน้ำ’ อีกแล้ว ยิ่งหลังเหตุการณ์ทั้งการเลือกตั้งซ่อม, ยุบพรรค, งูเห่า และอีกมากมาย รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่มี 277 เสียง ไม่มีความปริ่มน้ำอยู่เลย
.
และในสถานการณ์นี้ องค์ประชุมต้องการเพียง 244 เสียงก็จะครบองค์ประชุม เพียงพอที่จะให้ดำเนินการประชุมต่อไปได้
.
ในขณะที่รอเพื่อจะนับองค์ประชุม ประธานสภา ชวน หลีกภัย ก็ทั้งรอแล้วรออีก กดเสียงเรียกครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าอย่างไร หากประชุมคณะกรรมาธิการอยู่จริง ย่อมสามารถมายังห้องประชุมใหญ่ได้ทันเวลาแน่นอน
.
แต่จนในที่สุด เมื่อนับองค์ประชุมก็มีเพียง 231 เสียง
.
เมื่อมาดูในรายละเอียดลงไป ก็พบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคพลังประชารัฐ กลับขาดไปถึง 27 คน ซึ่งนั่นมากเพียงพออย่างมีนัยยะสำคัญที่จะทำให้การประชุมดำเนินต่อไปได้
.
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การพูดถึงหลักการที่ว่า
“องค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล”
.
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือ หน้าที่หลักของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็จริงอยู่ที่องค์ประชุมนั้น ส.ส. ทุกคนต้องรับผิดชอบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรณีนี้เอง ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ย่อมรอที่จะเป็นองค์ประชุมให้กับสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว
.
อย่างผมและพรรคก้าวไกลเองเราก็เป็น ส.ส.หน้าใหม่ เป็นคนรุ่นใหม่ เราก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดีที่สุด นั่นคือ การเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร
.
แต่เมื่อฝ่ายรัฐบาลขาดองค์ประชุมกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญขนาดนี้ นั่นหมายความว่าอะไร?
.
ก็หมายความว่า รัฐบาลไม่ได้เห็นความสำคัญของสภาผู้แทนราษฎรเลย เพราะมันไม่มีทางเลยที่เมื่อมีการรอกันขนาดนี้แล้ว ยังมาเข้านับองค์ประชุมไม่ทัน ถ้า ส.ส. ฝั่งรัฐบาลมาทำงานกันที่รัฐสภา
.
และหากว่าฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยต้องคอยเป็นองค์ประชุมให้ เช่นนั้นรัฐบาลจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ซึ่งควรมีหน้าที่ในการรักษาองค์ประชุมไปทำไมกัน ความรับผิดชอบของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจะเหลืออยู่แค่ไหนกัน
.
สังคมจึงย่อมสมควรจะเทน้ำหนักความคาดหวังกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่าอยู่แล้วครับ เพราะไม่เช่นนั้น สังคมก็คงจะต้องตั้งคำถามว่า “แล้วท่านจะเป็นรัฐบาลไปทำไม?”