“ตามหาวันเฉลิม” เก็บความวงเสวนา 1 สัปดาห์ การหายตัวของ วันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์

กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม

ย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี 2557 วันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกคณะรัฐประหารเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปกัมพูชา ก่อนที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เขาลักพาตัวและอุ้มหายไปในรถสีดำคันหนึ่ง จากหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน รวมถึงมีพยานเห็นเหตุการณ์ที่พยายามเข้าช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ

ล่วงเลยมาถึงวันนี้ ข่าวคราวของเขายังคงไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความหวังเมื่อชาวโซเชียล มีเดียต่างออกมาร่วมกันติด #Saveวันเฉลิม เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลไทยติดตามการหายตัวไปของเขาอย่างเร็วที่สุด

ล่าสุด กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรร่วมกันจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใครก็ตาม

 

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิม กล่าวว่า วันเฉลิม ทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมตั้งแต่ครั้งเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ หรือครั้งลงไปทำงานกับเยาวชนภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 โดยเขาเปรียบว่า วันเฉลิมเป็นดั่งต้นกล้าในการพัฒนาสังคมตั้งแต่สมัยเยาวชน และแม้เขาจะเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมาไปบ้าง แต่ไม่มีทางที่เขาจะทำร้ายใคร ชยุตม์ย้ำว่าประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่อง วันเฉลิม เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ ไม่ใช่เรื่องจริง เพียงแต่วันเฉลิมไม่มีสิทธิ์ที่จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เลย

ชยุตม์ทิ้งท้ายว่า “ไม่มีใครสมควรถูกอุ้มหายไปทั้งนั้น ถึงแม้เขาจะมีความคิดและแสดงออกแตกต่างแค่ไหนก็ตาม ถ้าหากผิดก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐบาลควรติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เพราะอย่างน้อยเขายังเป็นคนไทยคนหนึ่ง”

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย แต่มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงตอนนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN รายงานว่า มีนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยถูกอุ้มหายไปแล้วทั้งหมด 82 คน โดย 9 คนถูกอุ้มหาย ขณะที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

กรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง และไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยหรือไม่ ในฐานะที่เขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง รัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครองเขา นอกจากนี้ ประเทศกัมพูชาในฐานะประเทศภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยระหว่างประเทศหลายฉบับ ควรต้องให้ความร่วมมือในการสอบสวนการหายไปของวันเฉลิมเช่นกัน

สุณัยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO ของไทย ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ตัวตนของ วันเฉลิม ด้อยค่าลง เหตุใด IO ของไทยถึงต้องปฏิบัติการช่วยรัฐบาลกัมพูชา ทั้งที่ผู้ที่หายตัวไปคือคนไทยทั้งคน

เขาทิ้งท้ายว่า “ควรมีการเปิดเผยหนังสือของสถานทูตไทยที่ส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า มีการใช้ถ้อยคำและเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากข้อความในหนังสือยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ควรผลักดันให้มีการออกเอกสารฉบับใหม่ รวมถึงเรียกทูตกัมพูชามาติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง”

อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2547 กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอุ้มหายโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียม เธอเล่าว่าทุกๆ ครั้งที่ตัวเธอเองและครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายคนอื่นพยายามให้ภาครัฐช่วยเหลือในการตามตัวผู้สูญหาย ไม่มีสักครั้งที่มีความคืบหน้า และไม่มีสักครั้งที่พวกตนรู้สึกว่ามีความหวังเพิ่มขึ้น

เธอกล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ครอบครัวของผู้สูญหายจะรับมือกับความรู้สึก “เหมือนอยู่ในม่านหมอกของความคลุมเครือตลอดเวลา” เช่นนี้ นอกจากนี้ ความพยายามลดทอนคุณค่าของผู้ที่ถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจากทางไหนก็ตาม ยิ่งเป็นการซ้ำเติมครอบครัวให้สิ้นหวังมากขึ้น

“นอกจากกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย ทางการไทยควรมีการเยียวยาไม่ใช่แค่ในเรื่องเงินทอง แต่รวมถึงด้านความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ เธอเสนอว่า ครอบครัวของผู้สูญหายควรมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ตลอดจนเป็นคณะกรรมการวิสามัญติดตามกรณีที่เกิดขึ้น”

เธอกล่าวจบว่า ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาควรร่วมมือกันในการติดตามการหายตัวไปครั้งนี้ ส่วนตัวเธอขอให้กำลังใจทุกครอบครัวของผู้สูญหาย และเรียกร้องให้สังคมยืนเคียงข้างครอบครัวของผู้สูญหาย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้เหมือนสังคมไทยอยู่ในดินแดนที่คลุมเครือ ปากที่เผอิญพูด มือที่บังเอิญโพสต์ หรือเพียงแค่ความคิดที่แวบเข้ามา ทำให้เราวิตกว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่จริงกฎหมายไม่ควรถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย ดังนั้น การออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหายเป็นหลักประกันขั้นแรกสุดของประชาชน ที่อย่างน้อยสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายกับประชาชน

แอมเนสตี้ยืนยันว่า วันเฉลิม เป็นบุคคลหนึ่งที่ใช้สิทธิ เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย และยินดีที่ได้เห็น แฮชแทค และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าสังคมส่วนหนึ่งยังคงยืนอยู่ข้างวันเฉลิม

 

อานนท์ ชวาลาวัณย์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า นับตั้งแต่ คสช. ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 บรรยากาศการเมืองไทยอึมครึมขึ้นมาก นอกจากการออกคำสั่งให้คนบางกลุ่มเข้าไป ‘ปรับทัศนคติ’ ในค่ายทหารแล้ว ยังมีการรายงานว่านักเคลื่อนไหวหลายคนถูกทำให้หายตัวไป ไม่ว่าจะเป็น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ในปี 2560 สุรชัย แซ่ด่าน และอีกสองสหายคนสนิทเมื่อปี 2561 หรือ สยาม ธีรวุฒิ เมื่อปี 2562 และไม่เพียงแค่นั้น ราวเดือนสิงหาคมปี 2562 มีการรายงานว่า อ๊อด ไชยวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวลาว หายตัวไปจากบ้านพักในกรุงเทพฯ

อานนท์ย้ำเช่นเดียวกับทุกคนว่า “ไม่ว่าสาเหตุเบื้องหลังจะเกิดจากอะไร รัฐบาลไทยและกัมพูชามีหน้าที่ต้องติดตามและทำให้ความจริงปรากฎ เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เขาทิ้งท้ายว่าที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีใครควรต้องถูกทำร้าย ด้วยวิธีการนอกกฎหมาย”

 

นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (กฎหมาย) ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังประสานผ่านกระทรวงต่างประเทศ ไปยังสถานทูตไทย ในกัมพูชา เพื่อติดตามกรณีดังกล่าว

ทางด้านความคืบหน้าของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย กำลังคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เธอยังไม่ได้รับปากว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกคลอดและนำมาใช้เมื่อไร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้กล่าวในเวทีเสวนา ‘ตามหาวันเฉลิม ‘ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 บางตอนถึง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือเรียกสั้นๆว่า กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ว่า ผมกับคุณชัยธวัช (เลขาธิการพรรคก้าวไกล ) และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นด้วยว่าต้องผลักดันในเกิดเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ในหลักการทั่วไปของกฏหมายที่มีโทษทางอาญา คือ กฏหมายต้องทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรม , กฎหมายต้องสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคน ,กฎหมายต้องคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และการประทุษร้ายต่อเสียชีวิตและร่างกายของบุคคลด้วยวิธีการนอกกฎหมายจะทำไม่ได้เด็ดขาด

ในเรื่อง กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ส่วนตัวได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อปี พ.ศ. 2552 ถึงต้นปี 2554 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่กำกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่ภายหลังประเทศไทยรับอนุสัญญาเรื่องการต่อต้านการทรมาน เมื่อปี 2550 กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯเป็นหน่วยดำเนินการศึกษาที่ ผมเป็นประธานการประชุมรับฟังรายงานคืบหน้าเป็นประจำโดยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้วิจัย ได้เชิญหลายฝ่ายเข้ามาประชุมระดมสมองความคิดเห็นจากทุกฝ่าย มีแนวคิดเป็น 2 ทาง คือการพยายามเอาเรื่องนี้ไปใส่ในกฎหมายอาญาและวิอาญาที่ขาดหายไป คืออัตราโทษมันจะต่ำไป และไม่มีเรื่องการเยียวยา กับอีกแนวคิด คือร่างพระราชบัญญัติเฉพาะต่อมาปี 2554 ผมได้ย้ายไปเป็นเลขา ศอ.บต. เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา

อยากจะเรียนคำพูดที่เป็นอมตะว่า “ชนชั้นใด เป็นผู้เขียนกฎหมาย กฎหมายก็มุ่งจะรับใช้ชนชั้นนั้น” แม้กฏหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย จะเป็นเรื่อบังคับให้ต้องมีเพราะประเทศไทยเข้า เป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯจากข้อมูลพบว่ากฏหมายร่างเสร็จ ตั้งแต่ ปี 2557 เสนอ ครม ส่งไปกฤษฎีกา และส่งกลับมา ครม จากนั้นได้ส่งให้สภานิติบัญญัติ หรือ สนช กฏหมายฉบับนี้ได้ตีไปตีมาวิ่งไปกลับเพื่อให้ยืนยันถ้อยคำอยู่ตลอดเพื่อประวิงเวลา ประมาณ 7 ครั้ง ในขณะที่ในช่วง สนช. นั้น มีกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติถูกตราขึ้นใหม่ ประมาณ 412 ฉบับ ยังไม่นับรวมคำสั่ง ประกาศ คสช. และหัวหน้า คสช อีกประมาณ 500 ฉบับ
ซึ่งกฎหมายมากส่งพิจารณา ให้รัฐบาลและ สนช ภายหลัง ร่าง พรบ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ

ท้ายสุด พลเอกประยุทธ์ ฯนายกรัฐมนตรี มีมติ ครม. ให้ถอนร่าง ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เอามาเริ่มต้นใหม่ แสดงถึงการขาดความจริงใจและไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิด เห็นว่า กฏหมายสามารถรับใช้อำนาจเผด็จการได้นั้นเอง เพราะเผด็จการมีมุมมองเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน

พรรคฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันว่าจะเสนอกฎหมายและสนับสนุนภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ นักสิทธิมนุษยชนที่ผลักดันให้เกิดกฏหมาย ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ด้วย

มีประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยน ในเรื่องกฏหมาย รัฐบาลไทยหรือคนในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่มีวิธีคิดอยู่ในกรอบที่เรียกว่า Crime control model คือเจ้าหน้าที่จะมองว่ามุ่งที่จะควบคุม ปราบปราม อาชญากรรมเป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะมีแนวคิดที่เรียกว่า due process model ก็คือว่า ต้องเน้นหนักถึงความเป็นธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การให้ความสำคัญของกระบวนการและขั้นตอนที่ชอบโปร่งใสไม่ไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความจริงทั้ง 2 รูปแบบต้องการค้นหาความจริงเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายเหมือนกัน ที่ต่างกันคือ วิธีแรกถ้าอย่างไรเอาความจริงให้เกิด แม้จะทรมานก็ได้เพื่อความจริง สมัยก่อนจึงเห็นว่าใครจับผู้ต้องหาได้ จะเป็นฮีโร่ ในเบื้องหลังของฮีโร่ก็ไม่สนใจ

จะเห็นว่าทั้ง 2 รูปแบบ นี้เราจะมีจุดยึดเหมือนกัน ก็คือ “กฎหมาย” ทีนี้เรื่องกฎหมายผมถือว่าเป็นรากเหง้าที่สำคัญของความยุติธรรม อย่างที่บอกว่ากฎหมายลักษณะที่กล่าวมาแล้วข้าต้น กฏหมายต้องมุ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนมากที่สุด ก็คือประชาธิปไตย แล้วในมุมของประชาธิปไตยเขาบอกว่า ”อาชญากรรมจะต้องเป็นภยันตรายต่อสังคม” ไม่ใช่ “ภยันตรายต่อชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่ง หรืออารมณ์ของคนใดคนหนึ่ง” อันนี้อยากให้เข้าใจ ทีนี่พอเราจึงเห็นว่า ถ้ากฎหมายออกโดยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผู้มีอำนาจไม่ใช่กฏหมายที่ดี อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 เขียนไว้ดีมาก ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครอง’ แต่ข้อความในวรรค 2 ‘ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอ’ ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า มาตรา 279 สุดท้ายของรัฐธรรมนูญ บรรดาประกาศคำสั่งหรือการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ผมบอก 500 เนี่ยยังมีอยู่ และยังให้เป็นอยู่ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เริ่มต้นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ขัดหลักการประชาธิปไตยแล้ว เพราะคำสั่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช ล้วนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิมนุษย์ชน ที่ค้างอยู่ มันยังใช้ได้

ขอเสนอมุมมองในมิติของการบังคับใช้กฎหมาย ที่ผมชอบนิยามหนึ่งในทางอาชญาวิทยา คำว่า “อาชญากร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ที่กระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเท่านั้น แต่ให้รวมถึง ผู้ร่างกฎหมาย ผู้บงการให้ร่างกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย

วันนี้เราน่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องมาปฏิรูป ยกเลิกกฏหมาย หรือทำกฎหมายใหม่เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เลย ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนหวงแหนเป็นเจ้าของกฏหมายให้ได้ ทำอย่างไร จะให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยให้ได้ เป็นกฏหมายให้เกิดความยุติธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมาย ผู้กระทำผิดเอาตัวมาลงโทษ ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

 

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่ารัฐไทยยังติดอยู่กับการใช้เลนส์แบบเก่าสมัยสงครามเย็นมองประชาชนว่าเป็นศัตรู กับสถาบันของชาติ และยิ่งรุนแรงขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ดั่งจะเห็นได้จากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงการทำร้ายนักเคลื่อนไหวที่ถี่เพิ่มขึ้น หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปี 2554 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน

เขาเอ่ยถึงประเด็นที่ภายหลังที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาถึงประเด็นมาตรา 112 ก่อนที่ประชาชนทางบ้านจะคอมเมนท์แสดงความเป็นห่วง เขาชี้ว่ามันสะท้อนว่าประชาชนในประเทศรู้ดีถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ในสังคมไทย และความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน หากคิดแตะต้องผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐ

เขามองว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายป้องกันการอุ้มหายจะเกิดขึ้นโดยง่ายในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมือง ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้น ได้ร่างกฎหมายฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านที่ประชุมมติพรรคแล้ว ในลำดับถัดไปจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปพูดคุยใน กมธ. อีกรอบ ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยเป็นอีกแรงที่ผลักดันเรื่องนี้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่