“สุรเชษฐ์” ชี้จำเป็นตั้ง กมธ.ตรวจใช้งบ-แผนฟื้นโควิด ย้ำต้องกางทุกอย่างบนโต๊ะเพื่อความโปร่งใส

วันที่ 11 มิถุนายน 2563 ที่รัฐสภา นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในในญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้ง กมธ. วิสามัญเพื่อตรวจสอบงบประมาณและมาตรการในการแก้ไขปัญหาโควิด โดยระบุว่า ตนได้เคยอภิปรายไว้เมื่อครั้งพิจารณา พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับที่มีวงเงินรวมกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยสรุปไว้ว่า “กู้มั่วกลัวเสียโอกาส” และห่วงจะเป็นบาซูก้าลูกสุดท้ายที่ยิงอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คนที่ใช้คือฝ่ายบริหารที่อยู่มา 6 ปี ภายใต้ผู้นำที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกมา แต่มาจากการเขียนกติกาเพื่อสือบทอดอำนาจนั้น ผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น การตั้ง กมธ.วิสามัญ ขึ้นมาเพื่อติดตามเรื่องนี้จึงเป็นทางออกของการแก้ปัญหานี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่ยื่นญัตติด่วนนี้ไปตั้งแต่ 5 พฤษภาคม เพื่อตรวจสอบและให้ข้อแนะนำกับผู้ใช้เงินและออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด เป็นความหวังดีกับประเทศชาติและทำหน้าที่ตามกรอบรัฐธรรมนูญ

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม ตอนอภิปราย พ.ร.บ. โอนงบ เราจึงยอมให้งบกลางสูง เพราะเป็นงบที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการใช้ นั่นเพราะการแก้ปัญหาโควิดจำเป็นต้องใช้งบกลาง เราจึงยอม แต่ก็ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ต้องมี กมธ. ชุดนี้ไปตรวจสอบ และอีกอย่างด้วยวงเงินตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับ สูงมาก 1.9 ล้านล้านบาท และมาตรการที่ออกมาก็ส่งกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งวันนี้ก็ยังมีผู้คนเดือนร้อนอยู่จากมาตรการที่รัฐออกด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีเพื่อประเมินผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายเงินกู้และมาตรการโควิด ซึ่ง กมธ.สามัญ 35 คณะที่มีอยู่ก็มีภารกิจมากแล้ว บางพรรคก็เป็นการจัดโควต้าเข้าไปอาจทำให้ได้คนไม่ตรงความรู้ความสามารถ การมี กมธ.วิสามัญ จึงเป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ และนอกจากนี้ เม็ดเงินที่ใช้ก็สูงมาก สัดส่วนใกล้เคียงกับงบประมาณประจำปี ที่แต่ละปีก็จะมีการตั้ง กมธ.วิสามัญ ตรวจสอบเป็นพิเศษ เพราะใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งหากเทียบเคียงกับการใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก. ที่วงเงินใกล้เคียงกันนี้ ห่วงว่าจะมีช่องโหว่มาก ซึ่งจะเป็นเรื่อง 2มาตรฐาน อย่างชัดเจน ดังนั้น ต้องมีการมีการตั้ง กมธ. มาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้เงิน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ถ้าจะเปรียบเทียบในส่วนของเงินงบประมาณประจำปีปกติ กับเงินกู้ตาม พ.ร.ก. จะพบว่ามีหลายส่วนที่แตกต่างกันและอาจจะทำให้เรียกว่าสิ่งที่เกิด 2 มาตรฐาน ไมว่าจะเป็นเรื่อง 1.การวางแผนงบประมาณ ซึ่งในงบประมาณประจำปีปกติ ต้องมีการทบทวนงบประมาณ การวางแผนงบประมาณ แต่กรณีเงินกู้ตาม พ.ร.ก. ฉบับนี้ไม่มี 2.การจัดทำงบประมาณ ซึ่งในงบประมาณประจำปีปกติ มีการจัดทำโครงสร้างแผนงานตามยุทธศาสตร์ จัดทำคำของบประมาณ พิจารณาคำของบประมาณ จัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ และ เสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ตามลำดับ ขณะที่ กรณีเงินกู้ตาม พ.ร.ก. นั้น สศช. จัดทำกรอบนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณา และนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ให้หน่วยงานเสนอโครงการ ตามลำดับ จึงมีความเป็นห่วงว่า จะทำให้เกิดระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา อาจเอาเงินไปหว่านเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง ตามที่มีข่าวเรื่องงบ ส.ส. 80 ล้าน และเอาเงินไปใช้เรื่อยเปื่อย ไม่ตอบโจทย์โควิด

” 3.การอนุมัติงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะในงบประมาณประจำปีปกติ มีการพิจารณาร่าง 3 วาระโดยผู้แทนประชาชน รวมถึงยังมีวุฒิสภาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง แต่กรณี เงินกู้ตาม พ.ร.ก.นั้น ไม่ผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ อาจทำให้เกิดการชงเองกินเอง ด้วยอำนาจของฝ่ายบริหาร 4.การบริหารงบประมาณ ในงบประมาณประจำปีปกติ มีการจัดทำแผนปฏิบัติงาน จัดทำแผนใช้จ่ายงบประมาณ จัดสรรงบประมาณ และการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะที่ เงินกู้ตาม พ.ร.ก.นั้น แม้จะมี ปปช. สตง. ดำเนินการอยู่ แต่ก็ไม่ใช่การตรวจสอบทางการเมือง ที่มี ส.ส.ซึ่งจะมาตรวจสอบอย่างเข้มข้นป้องกันการฮั้ว ไม่เอางบ ส.ส.ปิดปากอย่างแน่นอน และ 5.การติดตามและการประเมินผลงบประมาณ ในงบประมาณประจำปีปกตินั้นจะมีการรายงานผลการดำเนินงาน การติดตามผลการดำเนินงาน การประเมินผลตลอดการดำเนินการ ขณะที่ในส่วนเงินกู้ตาม พ.ร.ก.นั้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังกำหนด อย่างนี้หรือเปล่าที่นำมาสู่การมีความพยายามเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรี” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสิ่งที่จะไปตรวจสอบ เบื้องต้นคือ 3 พ.ร.ก. มูลค่า 1.9 ล้านล้าน รวมถึงงบกลางที่โอนมาจาก พ.ร.บ.โอนงบ ที่จะใช้สำหรับสู้โควิด นอกจากนี้ยังรวมถึงมาตรการต่างๆ ที่จะออกมา ต้องฟังข้อเสนอแนะ เพราะมีคนได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐมาก อยากให้รัฐบาลเปิดใจฟังสภา ไม่ใช่ตั้งการ์ดไม่ตกอย่างเดียวแต่ต้องชกไปด้วย ทั้งนี้ ระยะเวลาของ กมธ. วิสามัญชุดนี้ก็ต้องยาวนานกว่า กมธ. วิสามัญปกติ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก. ที่จะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2564 นั่นเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณ ให้มีโปร่งใส ตรงเป้า และมีประสิทธิภาพ และนอกจากนี้ยังมีเรื่องที่อยากให้ตรวจสอบเพิ่มเติมอีก เช่นเรื่องที่จะเข้า ครม. นำมาที่ประชุมนี้สัก 24 ชั่วโมง ก่อนให้ ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบ รวมถึงกระบวนการคัดเลือกโครงการต่างๆ โดยเฉพาะวงเงินกู้ 4 แสนล้านสำหรับฟื้นฟูนั้น ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่ ตอบโจทย์หรือไม่ มีโครงการอะไรที่เป็นงบ ส.ส. หวังผลเลือกตั้งหรือไม่ ทุกอย่างต้องเอามากองบนโต๊ะ ใครจะทำอะไรน่าเกลียดก็มีคนตรวจสอบ เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ตอบโจทย์ปัญหาโควิดใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อความเป็นรัฐโปร่งใสอย่างแท้จริง” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนสนับสนุนให้มีการตั้ง กมธ. วิสามัญชุดนี้ สำหรับเเพื่อนสมาชิกท่านใดเห็นว่าไม่ควรตั้ง ก็อยากให้ลุกขึ้นมาอภิปราย ซึ่งตนเองก็อยากฟังเหมือนกันว่าจะมีใครให้เหตุผลว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนดีไม่ต้องตรวจสอบหรือไม่ อยากฝากถึงรัฐบาลว่า อย่ากลัวการตรวจสอบ ทั้งนี้ เราเข้าใจดีว่าสุดท้ายเสียงข้างมากชนะ แต่เราแค่เรียกร้องให้มาเล่นกันบนโต๊ะอย่างโปร่งใส

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่