‘นายกฯ’ ฝากศธ.ย้ำเรียนช่วงนี้แค่เตรียมความพร้อม ‘ครูตั้น’ ยันเปิดเทอม 1 ก.ค.

‘นายกฯ’ ฝากศธ.ย้ำเรียนช่วงนี้แค่เตรียมความพร้อม ‘ครูตั้น’ ยันเปิดเทอม 1 ก.ค.

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศธ.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ถึงการเรียนหนังสือในช่วงนี้ ว่าที่ ศธ.เริ่มออกอากาศสื่อการสอนผ่านทีวีดิจิทัลเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 วันที่ 1 กรกฏาคมเท่านั้น หากพบว่านักเรียนไม่สามารถเรียนที่โรงเรียนได้จะต้องเรียนผ่านช่องทางนี้ ทั้งนี้ตนขอให้ทุกคนเข้าใจตรงกันเพื่อความชัดเจนว่า วันที่ใช้การเรียนการสอนที่บ้าน ไม่ว่าจะผ่านโทรทัศน์หรือเรียนเสริมด้วยออนไลน์ ต่อเมื่อมีวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จนไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ที่โรงเรียนเท่านั้น แต่ศธ.มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและหาทางแก้ไขข้อบกพร่อง และข้อจำกัด โดย ศธ.จะใช้เวลาที่มีอยู่ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม-30 มิถุนายน แก้ไขข้อจำกัดที่มีอยู่ เพื่อให้การเรียนการสอนมีความต่อเนื่อง แม้จะสามารถเปิดสอนที่โรงเรียนตามปกติได้ แต่ตนไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นเป็นอย่างไร เช่น เมื่อถึงวันที่ 1 กรกฎาคม กลับมีคนติดเชื้อโควิด-19 จนต้องปิดโรงเรียน แต่การเรียนการสอนหยุดไม่ได้ จะต้องเอาระบบการเรียนที่บ้านมาใช้แทน เป็นต้น

นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม คือมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ของมูลนิธิ​การศึกษา​ทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) ผ่านทางโทรศัพท์และแท็บเล็ตเป็นจำนวนมาก แทนที่จะใช้โทรทัศน์รับสื่อการสอน จึงทำให้เว็บไซต์ล่ม ซึ่งในวันนี้ระบบกลับมาใช้ได้เหมือนเดิมแล้ว เรื่องนี้ทำให้ ศธ.คิดว่าจะต้องเตรียมระบบคลาวด์ หรือเซิฟเวอร์ ไว้รองรับคนถึง 4 ล้านคนที่จะเข้าเว็บไซต์ในเวลาเดียวกันได้ ปัญหาต่างๆ ศธ.จะหาทางแก้ไขต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต หรือเรื่องการเตรียมระบบไว้รองรับ

“ส่วนที่มีคนกังวลว่าเนื้อหาในการสอน อาจจะสอนผิดนั้น ศธ.จะใช้เวลาที่มีอยู่กว่า 40 วัน ดูเนื้อหาในทุกชั้นเรื่อง ทุกสาระวิชา หากพบปัญหาจะนำไปแก้ไขหรือปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ตามสื่อการสอนนี้ เป็นเนื้อหาขั้นพื้นฐานและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์วิกฤตที่ไม่สามารถเรียนที่โรงเรียนได้เท่านั้น ถ้าจะสอนเนื้อหาที่มากกว่านี้ ขึ้นอยู่แต่ละโรงเรียนที่จะเตรียมการเรียนการสอนเพิ่มเติมให้นักเรียน”นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดเห็นอย่างไร ที่นายตวง อันทะไชย ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา เสนอให้พิจารณาเปิดเรียนตามพื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนต้องยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่กำหนดว่าขั้นตอนในการเปิดเรียนควรจะเป็นอย่างไร รวมทั้งมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศคบ.) ที่กำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ชัดเจน โดยโรงเรียนถูกกำหนดเป็นพื้นที่แดงเข้ม คือมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง นอกจากนี้ จะเห็นข่าวว่าบางประเทศมีการเปิดเรียน แต่มีเด็กติดเชื้อจนต้องปิดโรงเรียนอีกครั้ง ศธ.ต้องนำบทเรียนต่างๆมาศึกษาเรียนรู้ด้วย

“ขณะนี้เราเผชิญอยู่กับสถาการณ์ที่ไม่ปกติ ฉะนั้นทุกคนต้องเข้าใจว่าจะกลับมาทำเหมือนเดิม ทำเหมือนปกติ ไม่ได้ ศธ.จะต้องเตรียมความพร้อม เพราะการศึกษาต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว ไม่สามารถสั่งการให้ทำอะไรได้ทันที เพราะจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ที่ผ่านมาจะพบว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยนั้นดี แต่ถ้ามีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง เช่น ในโรงเรียน จะยากต่อการควบคุม เพราะไม่สามารถไปถามเด็กได้ว่าไปทำอะไรมาบ้าง ผมมั่นใจในแนวทางที่ศธ.วางเอาไว้ ส่วนจะปล่อยหรือผ่อนปรนตรงไหนต้องให้ ศบค.ที่มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้ศธ.จะยึดวันเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 กรกฏาคมเช่นเดิม” นายณัฏฐพล กล่าว

ด้านนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า การเรียนผ่านทีวีดิจิทัล ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไม่พบการรายงานปัญหาใดๆ เข้ามา เพราะที่ผ่านมา สอศ.สื่อสารกับวิทยาลัยอาชีวะรัฐ และเอกชนตลอดว่า ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น ในช่วงที่มีการทดลองระบบ เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ การเรียนการสอนในช่วงนี้จะสอนในวิชาขั้นพื้นฐาน และผู้เรียนของสอศ. เป็นเด็กที่โตแล้ว จึงมีความเข้าใจในเทคโนโลยี

“ระหว่างนี้ สอศ.ได้อบรมพัฒนาครูรองรับการเรียนการสอนทางไกลและออนไลน์ พร้อมกับวางแผนพัฒนาผู้เรียน 3 ด้าน คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และทักษะการใช้เทคโนโลยี แต่การสอนเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใหม่ ผู้เรียนบางคนมีอุปกรณ์ไม่พร้อม ระหว่างนี้ให้แต่ละวิทยาลัยไปสำรวจ หรือช่วยเหลือผู้เรียนโดยการมอบอุปกรณ์เพื่อใช้การเรียน เป็นต้น ส่วนการฝึกปฏิบัตินั้น แต่ละวิทยาลัยจะไปบริหารจัดการกำหนดจำนวนผู้เรียนให้เข้ามาในห้องปฏิบัติการ เพื่อฝึกปฏิบัติต่อไป ซึ่งผมได้รับเสียงสะท้อนจากแต่ละวิทยาลัยว่าต้องการให้ ศธ.สนับสนุนค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตบ้าง ผมจะนำเรื่องนี้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณาสนับสนุนต่อไป”นายณรงค์กล่าว