โฆษกศบค. เตือน คนกทม.อย่าเพิ่งวางใจ ยอดลดไม่ใช่หมด สั่งวางแผนลุยตรวจเชิงรุก

โฆษกศบค. เตือน คนกทม.อย่าเพิ่งวางใจ แม้ยอดลดแต่ไม่หมายความว่า หมดไป สั่งผู้ตรวจทุกเขตวางแผนสุ่มตรวจเชิงรุก

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ตอบข้อซักถามถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในกทม.ลดลง โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมาพบเป็นศูนย์และวันที่ 28 เมษายนกลับมาเป็น 3 คนว่า ต้องชมคนกทม.ที่ทำให้ยอดผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มเป็นศูนย์เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา จึงยังวางใจไม่ได้ เพราะวันนี้ยังมียอดเพิ่มเป็น 3 คนเลย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับวิธีการค้นหานำผู้ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ระบบให้ได้มากขึ้น การบอกว่า วางใจเบาใจใช้ชีวิตให้เหมือนเดิมคงยังไม่ได้ เพราะถ้าจะให้เหมือนเดิมได้มีทางเดียวเท่านั้น คือต้องมีวัคซีน หรือยารักษา ดังนั้น วันนี้ยังจำเป็นต้องอยู่กับเชื้อโรค โดยป้องกันตัวเองอย่างดีไม่ให้ติดโรค เพื่อให้ตัวเลขนี้จะได้คงต่อไปอีก 14 วันข้างหน้า ถ้าปล่อยปะละเลยยอกผู้ติดเชื้อขึ้นแน่นอน

“แม้จะไม่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า จะเป็นศูนย์ ถ้าวันนี้ไม่มี พรุ่งนี้ก็มี คนที่รอบข้างเรา ถึงแม้จะติดเชื้อ แต่ก็ไม่รู้ได้ว่า มีเชื้ออยู่หรือไม่ อาจจะไม่มีการแสดงอาการก็ได้ เพราะตามข้อมูลมีคนราว 80% ที่มีอาการน้อยถึงไม่มีอาการเลย ตอนนี้วางใจยังไม่ได้ ยังต้องดูแลอย่างอย่างเข้มข้ม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ความเห็นแย้งในเรื่องวิธีการตรวจ โดยระบุว่า รัฐควรปูพรมตรวจ โดยคุ้มค่ากว่า หากเลือกวิธีการจะสามารถประหยัดได้มากกว่านั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในทางวิชาการได้หารือและพิสูจน์จนได้ข้อสรุปรวมกันแล้วว่า ยังจำเป็นต้องตรวจแบบมาตรฐาน หรือ แบบ PCR แม้จะเปลืองเพราะใช้เครื่องมือมาก แต่ถ้าเจอผู้ติดเชื้อมากก็ถือว่าคุ้มค่า กว่าการตรวจสอบปูพรมแต่ถ้าเจอไม่เยอะก็ไม่คุ้ม เทียบกับการสุ่มตรวจบางกลุ่ม แต่กลับเจอผู้ติดเชื้อเยอะกว่า จึงเป็นที่มาของการเลือกตรวจเฉพาะกลุ่ม อาทิ แรงงานต่างด้าว คนขอบชายแดน แรงงานแออัด และกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เป็นการดีไซต์เอาข้อมูลทางวิชาการเป็นตัวตั้ง ประกอบกับงบประมาณที่ถูกจัดสรรให้ประมาณ 3 พันล้านบาท เพื่อให้ได้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม โดยล่าสุดในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรือ อีโอซีนั้น ได้สั่งให้ผู้ตรวจราชการทุกเขตวางแผนเฉพาะเจาะจงเพื่อจะดึงคนในทุกพื้นที่ที่มีอาการน้อยออกมาจากสังคมเข้ามาสู่การรักษาเพื่อจำกัดเชื้อโดยเร็วๆภายใน 2 สัปดาห์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการบังคับใช้ในชีวิตวิถีใหม่กับมาตรการผ่อนปรนที่กำลังจะประกาศออกมา