“ฟอรั่ม-เอเชีย” รัฐบาลไทยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดโควิดเท่าที่จำเป็น หวั่นไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน

เมื่อวานนี้ (26 มีนาคม 2563) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม-เอเชีย) ขอแสดงข้อกังวลอย่างยิ่งต่อมาตรการล่าสุดในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผลบังคับทั่วประเทศโดยรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นการมอบอำนาจอย่างกว้างขวางและการคุ้มครองให้ไม่ต้องรับผิดแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ฟอรั่ม-เอเชียขอเรียกร้องต่อทางรัฐบาลไทยในการออกมาตรการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเพียงเท่าที่จำเป็นและเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน เพื่อไม่ให้มาตรการเหล่านั้นส่งผลกระทบเป็นการบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นภายในพื้นที่ภาคประชาสังคมที่หดตัวอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2020 รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยให้มีผลบังคับทั่วทั้งประเทศนับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2020 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวได้มอบอำนาจที่เด็ดขาดมากขึ้นต่อรัฐบาลไทยในการออกมาตรการต่างๆที่จำกัดสิทธิเสรีภาพภายใต้ดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตรการต่างๆเหล่านี้ สามารถออกได้ตามที่กำหนดเอาไว้ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น ข้อจำกัดในการเดินทางตามพื้นที่ที่กำหนด การห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือ การห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว นอกไปจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าว ยังกำหนดคุ้มครองให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่กระทำตามมาตรการต่างๆนี้ไม่ต้องมีความรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือ ทางวินัย ยกเว้นแต่เพียงการเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ข้อกำหนดต่างๆที่ระบุเอาไว้ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีลักษณะการเขียนที่คลุมเครือ ซึ่งง่ายต่อการถูกนำไปตีความและเอาไปใช้โดยเจ้าหน้าที่เพื่อปิดกั้นการวิพากย์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หนึ่งในข้อกำหนดที่มีลักษณะน่ากังวลคือมาตรา 9 อนุ 3 ซึ่งระบุ “ห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่ง หนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือ สื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” นอกไปจากนี้ ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้กล่าวเตือนถึง การใช้สื่อโซเชียลและการให้ ‘ข่าวสารบิดเบือน’ ว่าอาจถูกจับและดำเนินคดีได้[1]

การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยรัฐบาลไทยที่จะออกมาตรการอย่างกว้างในการจำกัดเสรีภาพในการพูดถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง แทนที่จะออกมาตรการที่จำกัดในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร รัฐบาลไทยควรที่จะให้ความคุ้มครองต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ประวัติอันไม่น่าภิรมย์ของประเทศไทยที่ผ่านมาในการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกทำให้ดูมีความเป็นไปได้อย่างมากที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับชาติจะถูกนำไปใช้เพื่อควบคุมเสรีภาพในการพูด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเองซึ่งมีการประกาศใช้และขยายอายุมาอย่างต่อเนื่องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้บตั้งแต่ปี 2005 ก็มีส่วนเชื่อมโยงอย่างมากต่อเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยก็ได้มีการใช้ข้อกฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพหลายฉบับอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ปิดปากผู้มีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ว่าจะเป็น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ), มาตรา116 (ยุยงปลุกปั่น), มาตรา 326 (หมิ่นประมาททางอาญา), หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการจับกุมศิลปินไทยคนหนึ่งจากการที่เขาโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ซึ่งกล่าวหาว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คัดกรองCOVID-19 ในสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงที่เขาบินกลับมาจากต่างประเทศ เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหาภายใต้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ[2] และถูกให้ประกันตัวในภายหลัง[3] กล่าวได้ว่า กฎหมายและนโยบายต่างๆถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือโดยทางการไทยในการระงับไม่ให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มที่

ฟอรั่ม-เอเชีย ขอกล่าวย้ำถึงข้อกังวลโดยกลุ่มผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า ‘มาตรการฉุกเฉินในการรับมือต่อ COVID-19 จะต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน เท่าที่จำเป็น และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ’ และมาตรการเหล่านั้นต้องไม่ถูกนำมาใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง[4] นอกไปจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกร้องต่อรัฐสมาชิกในอาเซียนให้นำมาตรฐานและหลักการสิทธิมนุษยชนสากลไปปฏิบัติใช้ต่อมาตรการในการแก้ไขปัญหา COVID-19[5]

ฟอรั่ม-เอเชียขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการทำให้มาตรการหรือนโยบายที่จะออกภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนี้ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับมาตราฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยการดำเนินการออกมาตรการเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด COVID-19 นั้น รัฐบาลไทยควรออกข้อจำกัดอย่างเป็นรูปธรรมต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ จัดให้มีกลไกต่างๆในเรื่องความรับผิดชอบ และ ทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือได้อย่างเต็มที่

ฟอรั่ม-เอเชียยังขอเรียกร้องต่อภาคประชาสังคมต่างๆให้มีความตื่นตัวและคอยเฝ้าระวัง ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 และ ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปเพื่อเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่มากขึ้นของรัฐบาล