ผู้ป่วยไวรัสโคโรนาในไทยหายเพิ่มรายวันอีก 1 ราย “2 แท็กซี่” ยังอยู่ในขั้นพิจารณา คาดรู้ผลวันนี้!

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.สรรพงษ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 3-30 มกราคม จำนวน 14 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในการรักษาภายในโรงพยาบาล (รพ.) 7 ราย แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 7 ราย และมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 – 30 มกราคม สะสมทั้งหมด 280 ราย คัดกรองจากสนามบิน 37 ราย มารับการรักษาที่ รพ.เอง 243 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 68 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาใน รพ. 212 ราย โดยในวันที่ 30 มกราคม พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายใหม่จำนวน 78 ราย สถานการณ์ทั่วโลกใน 20 ประเทศ ข้อมูล ตั้งแต่ 5 – 29 มกราคม พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 7,803 ราย ส่วนประเทศจีนข้อมูลวันที่ 30 มกราคม พบผู้ป่วย 7,711 ราย เสียชีวิต 170 ราย จากการตรวจคัดกรอง 5 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ได้ตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ สะสมตั้งแต่วันที่ 3 – 25 มกราคม จำนวน 137 เที่ยวบิน คัดกรองผู้เดินทางไป 21,522 คน วันที่ 24-30 มกราคม ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คัดกรองผู้โดยสารสายการบินจากประเทศจีน 114 เที่ยวบิน ผู้เดินทางและลูกเรือได้รับการคัดกรองจำนวน 7,604 ราย ทาง สธ. ได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ด่าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการป้องกัน เนื่องจากมีการรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศเหล่านั้นโดยเป็นประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้เดินทางไปยังประเทศไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม เยอรมนี เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

“ผู้ป่วยที่พบใน 5 ประเทศนี้ มีสมมุติฐานว่าได้รับเชื้อมาจากผู้ที่มาจากประเทศที่ระบาด โดยส่วนมากจะมีอาการน้อย และเป็นการติดเชื้อในครอบครัวหรือมีการอยู่ร่วมกันต่อเนื่องหลายชั่วโมง ประชาชนจึงควรเริ่มตระหนักเรื่องการป้องกันตัวเองจากโรคของระบบทางเดินหายใจที่ไม่ได้เฉพาะเพียงเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แต่ยังมีเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสอื่นที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ หน้ากากอนามัยมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ หน้ากากแบบผ้า หน้ากากแบบทางการแพทย์ และหน้ากากเอ็น 95 ซึ่งจะต้องใช้ให้ตรวจกับวัตถุประสงค์ปละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดการเกิดขยะและกาขาดแคลน โดยคำแนะนำคือ หน้ากากแบบผ้าเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีอาการป่วย ใช้ในการป้องกันตัวเอง เนื่องจากสามารถซักล้างได้ หน้ากากทางการแพทย์เหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยแล้วและผู้ดูแลผู้ป่วยภายในบ้าน เพราะสามารถซับน้ำมูกหรือน้ำลายได้ดี และหน้ากากเอ็น 95 เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากเราใช้หน้ากากทางการแพทย์คนละ 1 ชิ้น จะเกิดขยะประมาณวันละ 10 ล้านชิ้น และในระยะยาวความคุ้มค่าก็จะไม่มาก แต่แบบผ้าจะคุ้มค่าในระยะยาว แต่ทางป่วยจะต้องใช้แบบทางการแพทย์ จะได้มีเพียงพอหากเกิดความจำเป็น” นพ.โสภณกล่าว

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public health Emergency of international Concern) เนื่องจากมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และพบผู้ป่วยในหลายพื้นที่ปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้วใน 17 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนมีรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คนภายในประเทศ จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก ทั้งนี้ประเทศไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับประกาศขององค์การอนามัยโลก ซึ่งในวันที่ 31 มกราคม เวลา 13.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามเมื่อวันที่ 28 มกราคม เป็นการประชุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับมาตรการต่างๆ อาทิ เช่น มาตรการทางกฎหมาย มาตรการด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และมาตรการในด้านการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก

นพ.โสภณกล่าวว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการวิชาการโรคติดต่อภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งได้มีการหารือในประเด็นการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ให้เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตลอดจนการพิจารณาเรื่องการประกาศพื้นที่หรือเขตติดโรค

“ทั้งนี้จะต้องดูผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมด้วยรวมถึงการเดินทางด้วย ไม่ใช่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว เพราะขณะนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิตในประเทศไทยเลย และในต่างประเทศก็มีแต่ประเทศจีน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัว ซึ่งถ้าหากการใช้มาตรการทางกฎหมายเพิ่มก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น ข่าวดีคือนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่ระบาดลดลงไปกว่าร้อยละ 80 ในหลายเที่ยวบินจึงไม่ถึงความจำเป็นต้องใช้ในเวลานี้ เนื่องจากมีมาตรการอื่นมาเสริมจากประเทศต้นทาง” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวต่อไปว่า การที่องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องยกระดับ โดยการยกระดับมี 2 แบบคือ แบบที่ 1 การยกระดับในประเทศ ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่เป็นมาตรการที่เข้มงวดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยเริ่มจากการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการภายหลังจากการคัดกรองที่สนามบินและได้เข้ารับการรักษาใน รพ. ข้อดีที่เกิดขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ การปิดประเทศของจีนทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยลดลง และขณะนี้ได้ยกระดับมาเป็นแบบที่ 2 คือ เชิงป้องกัน เช่น การเพิ่มมาตรการในชุมชนที่จะต้องเฝ้าระวังโดยการให้ความรู้แก่มัคคุเทศก์ และผู้ประกอบการทัวร์ในการเป็นหูเป็นตาเมื่อพบผู้ป่วย พร้อมทั้งการป้องกันตัวเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยทั้งแบบผ้าและแบบทางการแพทย์ ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือให้แก่ประเทศที่พบปัญหาเนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในการเฝ้าระวัง เช่น การใช้เครื่องเทอร์โมสแกนให้พบผู้ป่วย

“ประเทศอื่นถามมาตลอดเวลาไทยใช้เทอร์โมสแกนอย่างไรให้เจอผู้ป่วย เพราะส่วนใหญ่เขาไม่เจอ ไปเจอใน รพ. เขาก็ถามว่าประเทศไทยจะช่วยอบรม ทำให้เขามีศักยภาพในการสแกนให้ดีขึ้นได้หรือไม่ สำหรับประเทศที่ยังไม่ค่อยเจอผู้ป่วย หรือการสนับสนุนการสวบสวนโรคให้แก่ประเทศที่ต้องการความเชี่ยวชาญจากประเทศ เพิ่มการคัดกรองตั้งแต่ต้นทางกับสายการบินต่างๆ ที่นำผู้โดยสารมาจากประเทศที่ระบาด ตอนนี้ผู้โดยสารทุกคนจะถูกวัดไข้จากสนามบินต้นทาง โดยการที่เราส่งหนังสือแจ้งผ่านองค์การอนามัยโลก แจ้งตรงไปยังบริษัทเขาบ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าจะมีคนที่ไม่ได้ขึ้นเครื่องจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกที่เราไม่ได้พูดกันบ่อยนักในที่สาธารณะเพราะเป็นกระบวนการทำงานภายใน” นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการของคนขับรถแท็กซี่ที่กำลังอยู่ในการเฝ้าระวังเป็นอย่างไรบ้าง นพ.โสภณกล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายด้านระบาดวิทยา คลินิกวิทยา และไวรัสวิทยา จะมีการประชุมกันเพื่อหาข้อสรุป คาดว่าจะได้ข้อสรุปยื่นต่อรัฐบาลและ สธ.ต่อไป โดยผู้ที่ป่วยขณะนี้มีอาการที่ดี และอยู่ในระหว่างการรักษา

เมื่อถามว่าหากไปรับนักศึกษาไทยในเมืองอู่ฮั่นกลับมาแล้วจะต้องดำเนินการอะไรต่อ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนคือ จะต้องเตรียมทีมโดยขึ้นอยู่กับจำนวนและอาการของนักศึกษา โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่าสภาพของนักศึกษาอยู่ในอาการปกติ ดังนั้นทีมที่จะไปรับคือทีมคัดกรอง แพทย์และผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็น ที่จะต้องใช้ดูแลระหว่างการเดินทาง ด้านการควบคุมโรคใช้มาตรการเหมือนกับการคัดกรองนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด จึงจะต้องมีการเฝ้าระวังแต่ติดตามผลต่อไป และในส่วนของการเตรียมทีมนั้นจะต้องเป็นทีมที่มีความคล่องตัวทั้งจากสำนักงานปลัด สธ.กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์

เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่มีการรายงานการติดเชื้อกรณีคนสู่คนในต่างประเทศ จากข้อสังเกตจะพบในประเทศที่มีอากาศเย็น ดังนั้นประเทศไทยจะมีความเสี่ยงที่น้อยกว่าหรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า เป็นไปได้ เนื่องจากอากาศที่เย็นจะมีการติดเชื้อที่ง่ายกว่า และจะต้องดูเชื้อเป็นหลัก เช่น เชื้อบางตัวเมื่อไปอยู่ในอากาศที่ร้อน เจอแสงแดด เชื้อมันตายเร็วและเมื่ออยู่ในอากาศเย็นเชื้อจะตายช้าลง ในการแพร่ระบาดมีหลายทาง ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสุขอนามัยของประชาชนด้วย เช่น ผู้ป่วยจำกัดตัวเองอยู่ในบ้าน สวมหน้ากากอนามัยก็จะลดการแพร่เชื้อได้