แพทย์เตือนเร่งคุมก่อนระบาด เชื้อไวรัส ในค้างคาว 600 ชนิด หวั่นติดจากสัตว์สู่คน

เมื่อวานนี้ (2 มกราคม 2563) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2563 ว่า ประเทศไทยยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 โรคติดต่ออันตราย หากเจอต้องมีการควบคุม

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2559 ประกอบด้วย 1.กาฬโรค 2.ไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.ไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8.โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว 9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอวิงเวียน ซึม และสับสน 11.โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส และ 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ และความเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โรคสมองอักเสบ มีความเสี่ยงที่จะพบการผันแปรมากขึ้น แทนที่จะพบบริเวณสมองใหญ่ กลับไปเจอที่แกนสมอง หรือมีเชื้ออื่นร่วมด้วย เช่น ท้องร่วง ปอดบวม ทำให้อาการรุนแรงขึ้น

และกลุ่มที่ 3 ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ได้ทำการเก็บข้อมูลไวรัสในค้างคาว พบว่า มีเชื้อไวรัส 600 ชนิดที่ไม่ทราบชื่อ แสดงว่า มีความเสี่ยงจะไปติดต่อสู่สัตว์ และอาจนำไปสู่การติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ เนื่องจากค้างคาว เป็นสัตว์นำโรคชนิดแรกๆ เหมือนอย่างไข้สมองอักเสบ ดังนั้น เชื้อไวรัสทั้ง 600 ชนิด จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง

“หากเราพบผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสแปลกๆ หรือตรวจไม่พบว่า มีเชื้อที่ก่อโรคในกลุ่มที่ 1 และ 2 เราต้องสงสัยแล้วว่า อาจเป็นกลุ่มที่ 3 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต้องรีบควบคุม ก่อนจะระบาด เพราะปัจจุบันยังไม่รู้ว่าไวรัสทั้ง 600 ชนิด จะก่อโรคอะไรในสัตว์ หรือในคนได้ ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพฯ กำลังติดตามไวรัสเหล่านี้ว่า มีการดำเนินการของโรคอย่างไร เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว