“การสอดแนมออนไลน์” โลกยุคใหม่ที่ไร้ความเป็นส่วนตัว

ในยุคนี้ความสะดวกสบายต่างๆมีอยู่ในทุกอุปกรณ์ที่เราใช้งาน เราสามารถสั่งการ ลำโพงอัจฉริยะของเราในห้องนั่งเล่น เพื่อซื้อของขวัญช่วงปีใหม่ หรือจัดการนัดหมายได้ทันที ทุกแห่งที่เราไปจะมีแผนที่คอยนำทางหรือยิ่งกว่านั้น เราอาจไม่ต้องขับรถเอง เพียงปลายนิ้วเราก็สามารถพูดคุยติดต่อหรือแลกเปลี่ยนรูปภาพกับเพื่อนหรือญาติสนิทมิตรสหายได้ภายในชั่วพริบตา

แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีอย่างที่เคยเป็นมาและจะเป็นต่อไปความสะดวกสะบายเหล่านั้นแลกมาด้วยข้อมูลส่วนตัวมากมายที่บริษัทต่างๆจะบอกเราว่าจะถูกนำไปใช้เพื่อเหตุผลทางการค้าอะไรบ้างคือเหตุผลทางการค้าเราไม่อาจทราบได้เลยการนำเสนอโปรโมชั่นสุดแสนพิเศษในเดือนเกิดของคุณการทราบว่าคุณมีพี่น้องกี่คนเพื่อนำเสนอแพ็คเกจเพื่อครอบครัวต่างๆหรือรู้ว่าคุณมักจะเดินทางไปสถานที่แห่งไหนในช่วงเวลาใดเพื่อที่จะนำเสนอที่พักราคาพิเศษให้หรือแม้แต่การคุยกับเพื่อนว่าเราอยากได้อะไรแล้วมันก็โผล่ขึ้นมาให้เราเห็นในหน้าfeed ภายในไม่กี่นาที

แต่สิ่งเหล่านี้อาจแลกมาด้วยการที่มีคนจริงๆนั่งฟังคำพูดของคุณในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ซ้ำร้ายกว่านั้น ข้อมูลของคุณอาจจะถูกขายให้นักทำแคมเปญทางการเมือง เพื่อนำเสนอภาพอันเลวร้ายของผู้อพยพหรือชนกลุ่มน้อยว่าจะเป็นอันตรายต่อลูกสาวของคุณเพื่อจูงใจให้คุณเลือกผู้นำที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพหรือชนกลุ่มน้อย

ในปีนี้ (2019) สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Facebook ยอมรับว่าใช้บริษัทคู่สัญญาซึ่งเป็นคนจริงๆมานั่งฟังคลิปเสียงที่ส่งใน Facebook messenger บางส่วนโดยบริษัทชี้แจงว่าสิ่งเหล่านี้ทำเพื่อปรับปรุงการให้บริการ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเช่นเดียงกันกับ Alexa ลำโพงอัจฉริยะของทาง Amazon

 

ข้อมูลส่วนตัวของผู้คนจำนวนมากกำลังถูกซื้อขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และเป็นแหล่งรายได้แห่งใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นการผูกขาดโดยเจ้าใหญ่และให้บริการทั่วโลก แถมรัฐบาลประเทศต่างๆยังมีความยากลำบากในการเก็บภาษีกับบริษัทเหล่านี้อีกด้วย ถ้าพูดถึงบรรษัทข้ามชาติที่เป็นตัวร้ายในสังคมในอดีตเรามักนึกถึงบริษัทน้ำมันหรือบริษัทที่ตัดต่อพันธุกรรม GMOs หรือ บรรษัทสารเคมีทางการเกษตร แต่ต่อจากนี้เราอาจต้องรวมบริษัท Tech Company บางส่วนเข้าไปด้วย

เมื่อข้อมูลของเราทุกคนถูกท่อสูบขนาดใหญ่สูบเข้าไปทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ อย่างที่เราได้เห็นในการลงโฆษณา Fake News ทางการเมืองบนโลก Online จนทำให้ผลการเลือกตั้งบิดเบือน หรือเกิดความเกลียดชังขึ้นขนานใหญ่ในสังคมดังเช่นในสหรัฐอเมริกา การทำเงินด้วยการสร้างความเกลียดชังกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม

Elizabeth Warren ผู้ท้าชิงผู้นำพรรคเดโมแครต ที่อาจจะกำลังจะขึ้นไปต่อสู้แย่งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับนาย Donald Trump กำลังใช้เรื่องนี้ในการรณรงค์การเลือกตั้งอย่างเต็มที่

โดยมี 3 เป้าหมายหลักคือ

  • ให้ประชาชนสามารถควบคุมได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของตนนั้นจะถูก เก็บ,ส่งต่อ และขาย อย่างไร
  • ให้ผู้ผลิต content ต่างๆไม่ว่าจะเป็นนักเขียนสำนักข่าวหรือศิลปิน ไม่ถูกเอาเปรียบจากการนำผลงานไปใช้อย่างไม่เป็นธรรม
  • ทำให้ Social media ปราศจากข้อมูลเท็จ เพื่อสร้างความเกลียดชังหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงการแทรกแซงประเภทอื่นๆ

 

การตื่นตัวจากแคมเปญการเลือกตั้งของเธอไม่แต่งต่างจากการที่นักการเมืองในอดีตลุกขึ้นมาบอกบริษัทน้ำมันว่า คุณควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้แล้ว เช่นเดียวกัน บรรษัทข้ามชาติที่หากินบนข้อมูลส่วนตัวของคนทุกๆคนก็ควรที่จะคำนึงถึงสังคมเช่นเดียวกัน

และนอกจากการสอดแนมโดยบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่แล้วยังมีการสอดแนมโดยรัฐบาลต่างๆด้วยเทคโนโลยีที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางซึ่งตรงจุดนี้ก็นับว่าเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของพลเมืองก็อาจถูกรัฐบาลริดรอนไปเช่นเดียวกันซึ่งรัฐบาลของชาติต่างๆก็จะยังคงใช้เหตุผลด้านความมั่นคงคอยบอกกับประชาชนอยู่เสมอเมื่อมีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งก็มีทั้งเหตุผลที่ฟังขึ้นและฟังไม่ขึ้น

ทั้งนี้ ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างกำลังขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ AI และ Bigdata แน่นอนว่าเราทุกคนย่อมต้องหนีไม่พ้นและตกเป็นส่วนหนึ่งของชุดข้อมูลที่จะถูกประเมินถูกซื้อขาย เราทุกคนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตื่นตัวและระมัดระวังข้อมูลส่วนตัวของเราไม่ให้ถูกซื้อขายและเอาเปรียบ รวมถึงมีภูมิคุ้มกันทางข่าวสารเราต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าสิ่งที่มาปรากฎบนหน้า Feed ของเรามีผู้อยู่เบื้องหลังเสมอที่ทั้งจริงใจและไม่จริงใจ

ดังนั้น เราจึงควรใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือเท็จ หรือทำเพียงเพราะความสะใจกันนะครับ