‘บอร์ด สกสค.’ อนุมัติ 800 ล. ให้องค์การค้าฯ ยืม ‘ดิศกุล’ ยื้อขอโควต้าจุฬาฯคืน ชี้เพื่อความอยู่รอด

‘บอร์ด สกสค.’ อนุมัติ 800 ล. ให้องค์การค้าฯ ยืม ‘ดิศกุล’ ยื้อขอโควต้าจุฬาฯคืน ชี้เพื่อความอยู่รอด

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ตนเป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินให้ประมาณ 800 ล้าน องค์การค้า (อค.) ยืมเพื่อไปดำเนินการพิมพ์หนังสือ ซึ่งการอนุมัติเงินครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ รักษาการเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ไปตรวจดูการใช้เงินและแจกแจงการใช้เงินขององค์การค้าฯ ว่าใช้ทำอะไรบ้าง

“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องคาราคาซังขององค์การค้าฯ ที่ต้องให้ สกสค.มาแบกรับภาระอยู่ ขณะนี้ที่ประชุมอยู่ระหว่างดูรายละเอียดสินทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นหลักค้ำประกันขององค์การค้าฯ แม้องค์การค้าฯจะเป็นองค์กรลูกของ สกสค. แต่ความรับผิดชอบต้องแยกกัน ฉะนั้นทุกอย่างต้องทำให้ถูกต้อง และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งเราต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว” นายณัฏฐพล กล่าว

ด้านนายดิศกุล กล่าวว่า จากที่องค์การค้าฯ ขอยืมเงิน สกสค.นั้น เพื่อใช้หนี้บางส่วนขององค์การค้าฯ และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทั้งนี้องค์การค้าฯ จะพยายามรักษาสัญญาคือการเป็นลูกหนี้ที่ดี แต่เนื่องจากประสบปัญหาบางอย่าง ขึงยังไม่ใช้หนี้บางส่วน ทำให้เจ้าหนี้เข้ามาทวง ซึ่งทางองค์การค้าฯ จะพยายามใช้เงินที่ได้มานั้นนำมาบริหารจัดการให้ดี และใช้จ่ายหนี้บางส่วน คาดว่าจะทำให้การทำงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้เจ้าหนี้ด้วย ทั้งนี้ ตนทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การค้าฯ ก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยแก้วิกฤติครั้งนี้ เพราะองค์การค้าฯ ประสบปัญหามานาน ตนในฐานะผู้นำจะพยายามแก้ไข และที่สำคัญคือจะต้องดูแลสวัสดิภาพของพนักงานให้ดีที่สุดด้วย

นายดิศกุล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการที่องค์การค้าฯ เสนอขึ้นเงินเดือนพนักงาน ในที่ประชุมองค์การค้าฯ เมื่อเร็วๆ นี้นั้น เป็นการเสนอตามกฎหมาย เพราะกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีการขึ้นเงินเดือนพนักงานทุกปี แต่การที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานนั้น ตนจะต้องเข้าไปพูดคุยสอบถามพนักงานว่ายินยอมหรือไม่ จะเสียสละเพื่อองค์กรหรือไม่ ไม่ได้บังคับว่าจะไม่ขึ้นเงินเดือนให้เลย เพราะเป็นกฎหมายที่จะต้องขึ้นเงินเดือนให้อยู่แล้ว จะไปสั่งไม่ขึ้นขั้นเงินเดือนไม่ได้ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย

“แต่จะพยายามทำความเข้าใจกับพนักงาน และสอบถามความยินยอม ความเสียสละ เพื่อให้องค์กรผ่าวิกฤติไปด้วยกัน และตอนนี้ผู้บริหารองค์การค้า มีความเข้าใจตรงกันว่า ขณะนี้องค์กรกำลังประสบปัญหาขาดทุน และเพื่อแสดงความรับผิดชอบก็ต่างแสดงความจำนงไม่ขอขึ้นเงินเดือน ถ้าเจ้าหน้าที่ พนักงาน ผู้บริหารองค์การค้าฯ ร่วมกันเสียสละ เชื่อว่าจะทำให้องค์กรผ่านวิกฤติไปได้ ไม่เช่นนั้นองค์กรจะอยู่ไม่รอด”นายดิศกุล กล่าว

นายดิศกุล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้องค์การค้าฯ ได้ขอเสนอให้มีการทบทวนมติเรื่องการจัดพิมพ์แบบเรียน ปีการศึกษา 2563 ซึ่งปัจจุบันแยกการจัดพิมพ์เป็น 2 ส่วน คือ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพิมพ์องค์การค้าฯ โดยองค์การค้าฯ ขอจัดพิมพ์แบบเรียนเองทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดขององค์กร เพราะถ้าไม่ได้สัดส่วนการพิมพ์จากสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ จะสร้างผลกระทบอย่างมาก เพราะขณะนี้องค์การค้าฯ เป็นหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท ถ้าไม่มีเงินหมุนเวียน การทำธุรกิจต่างๆ จะชะงัก หากได้สัดส่วนการพิมพ์นั้นมา องค์การค้าฯ จะมีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในธุรกิจของตน

นายดิศกุล กล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือการจ้างพนักงานที่ต้องใช้เงินเดือนละประมาณ 37 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น หนี้สินผูกพันต่างๆ เป็นต้น หากไม่ได้ยอดในการพิมพ์เพิ่ม องค์การค้าฯจะมีรายได้ที่สามารถอยู่รอดได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ไม่สามารถดำรงองค์กรได้ตลอดปี ซึ่งเรื่องนี้จะสร้างผลต่อเนื่อง เช่น หากไม่ได้งบประมาณส่วนนี้มา พนักงานอาจจะตกงานกว่า 1,000 คน ยังไม่รวมถึงครอบครัวของพนักงานที่จะได้รับผลกระทบ จึงจำเป็นต้องขอส่วนแบ่งในการพิมพ์จากสำนักพิมพ์แห่งจุฬาฯ มา ตนเชื่อว่าองค์การค้าฯ มีความสามารถในการพิมพ์ได้ทันทั้งหมด

“เชื่อว่าถ้าองค์การค้าฯ ได้สัดส่วนการพิมพ์มาทั้งหมด จะทำให้มีรายได้ มีเงินใช้หนี้ แต่ถ้าไม่มีรายได้ ไม่มีเงินใช้หนี้ หนี้ที่มีอยู่จะกลายเป็นหนี้เน่า แต่ที่ประชุมยังไม่มั่นใจว่า องค์การค้าฯ จะสามารถผลิตหนังสือได้ทัน และกระบวนการที่จะส่งหนังสือไปยังโรงเรียนจะทันเปิดเทอมหรือไม่ จึงอยากให้ทำรายละเอียดมาเพิ่ม ผมจะกลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ว่าจะสามารถผลิตหนังสือได้ทัน และส่งหนังสือให้โรงเรียนทันเวลาแน่นอน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมองค์การค้าฯ พิจารณาเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง เพราะองค์การค้าฯ อยู่รอดด้วยการพิมพ์เป็นหลัก” นายดิศกุล กล่าว

นายดิศกุล กล่าวต่อไปว่า ส่วนใหญ่การตีพิมพ์หนังสือนั้นจะเสร็จทันเวลา แต่ขั้นตอนการส่งหนังสือบางครั้งหนังสืออาจจะจัดส่งให้ทันเวลา หากระดมกำลังในหน่วยงานที่ตนดูแลอยู่ คือ สกสค. ที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่มีศูนย์ กศน.ประจำอำเภอ ที่มีศูนย์กระจายไปทั่วประเทศ เข้ามาช่วยเหลือ จะทำให้การส่งหนังสือมีประสิทธิภาพมากกว่าปีที่แล้ว โอกาสพลาดมีน้อยและสามรถส่งหนังสือได้ทันเวลาแน่นอน