ชทพ. แนะ อย่าตั้งธงรื้อรธน. ระวังระเบิดเวลาทำขัดแย้ง ชี้ จะแก้อะไร ต้องฟังประชาชนเยอะๆ

โควต้าชทพ. ส่งชื่อ “นิกร” นั่งกมธ.ศึกษาแก้รธน. ชี้ อย่าตั้งธงล่วงหน้า จะแก้อะไรต้องถามปชช. ยักไหล่ “มาร์ค” ร่วม ชี้ ถือเป็นมีประสบการณ์ทำฉบับปี40

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ญัตติดังกล่าว ถือเป็นความเข้มข้นทางการเมือง เพราะทุกพรรคทั้งซีกรัฐบาล และฝ่ายค้านต่างยื่นญัตติกันหมด ดังนั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตนจะเข้าร่วมในส่วนของชทพ. เพื่อไปนำเสนอในฐานะพรรคที่มีประสบการณ์ในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่า จะต้องแก้แบบไหนถึงจะสำเร็จ ด้วยการไม่ตั้งธงอะไรไว้เลย แต่ใช้วิธีถามประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็ม อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่า เป็นผู้หนึ่งมีประสบการณ์แห่งความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อยู่ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์​​ว่า จะส่งนายอภิสิทธิ์เข้าร่วมเป็นกมธ.วิสามัญฯหรือไม่

“เรื่องนี้ถือเรื่องทางการเมืองที่มีความเข้มข้น เพราะเมื่อรัฐบาลได้สัญญาไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน ฝ่ายค้านจึงรุกเต็มที่ เพราะมีแต่ได้กับได้ หากนำไปสู่การแก้ไขก็ถือว่า ได้ แต่ถ้าแก้ไม่ได้ รัฐบาลก็อาจถูกมองว่า ไม่จริงใจได้เช่นกัน เป็นลักษณะกึ่งยิงกึ่งผ่าน อีกทั้ง เมื่อมีการตั้งกมธ.วิสามัญฯแล้ว ก็จะมีประเด็นอีกว่า จะแก้ตรงไหน จะไปเปิดไข่ก่อน หรือแก้รายมาตรา ก็ทำไม่ได้ เพราะติดล็อกหลายชั้น กลับกันการจะพุ่งเป้าที่แม่ไก่ ด้วยการปลดล็อกมาตราเดียวเพื่อแก้ไขทั้งฉบับ อีกฝ่ายก็ไม่มั่นใจว่า จะแก้อะไรบ้าง นี่จึงเป็นปัญหาเรื่องไก่กับไข่ที่จะตามมา ดังนั้น หลังจากนี้คงต้องหารือกัน แต่โดยรวมถือมีความคืบหน้าไปตามเวลา”นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นดาบสองคมในตัวเอง เพราะหากมีใครอาศัยเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการโจมตีกันจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่ระเบิดเวลาที่อาจทำให้สังคมแตกแยกขึ้นมาได้ จึงต้องพึ่งระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า การขับเคลื่อนขององค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อการรณรงค์และเครื่องไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายโคทม อารียา เป็นประธาน ถือว่า มีกำลังเข้มแข็ง โดยปรารถนาให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง โดยจะใช้ความร่วมมือด้วยการถามประชาชนเป็นหลักว่า ต้องการอะไร ส่วนประเด็นหรือมาตราไหนในการแก้เป็นรอง ซึ่งต่างจากพรรคการเมืองที่นำมาตราใดมาตราหนึ่งมาเป็นหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องได้เปรียบเสียเปรียบกันในทางการเมืองมากกว่า